“ชัยวุฒิ” เผย นายกรัฐมนตรีห่วงประชาชน ถูกหลอก fake new ซื้อสินค้า-ความมั่นคง

21 มี.ค. 2565 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2565 | 20:46 น.

“ชัยวุฒิ” เผย นายกรัฐมนตรีห่วงประชาชน ถูกหลอก fake new โดยเฉพาะประเด็นการถูกหลอก จากการใช้โซเชียลหรือการ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ร่วมถึงข่าวปลอมต่างๆ ไม่เฉพาะประเด็นด้านความมั่นคง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ จังหวัดนครพนม เปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันเเละรับมือกับข่าวปลอม จัดโดยศูนย์ประสานงานเเละเเก้ไขปัญหาข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม โดยระบุว่า ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจึงได้กำชับให้กระทรวงฯ เฝ้าระวังเเละติดตามเรื่อง ข่าวปลอมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นการถูกหลอก จากการใช้โซเชียลหรือการ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์

 

รวมถึงข่าวปลอมต่างๆ ไม่เฉพาะประเด็นด้านความมั่นคง เเต่ยังรวมถึงการให้ความรู้ประชาชน ให้ใช้โซเชียลอย่างมีความสุข เเละไม่ตกเป็นเหยื่อ ทางกระทรวงก็มุ่งที่จะให้ความรู้ หรือสร้างการรับรู้ กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้นในทุกๆ พื้นที่ ทั่วประเทศ เราต้องมีเครือข่ายภาคประชาชน ที่เข้มแข็ง ซึ่งปีงบประมาณ 65 จึงมีการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับประเด็นการสื่อสาร อาทิ อสอ. สมาคมนักวิทยุอาสาสมัครเล่น สมาพันธ์สมาคมวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายประเทศไทย และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย  โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 65 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ….”

พร้อมให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ใน 3 ระดับ ได้แก่

1.ศูนย์ประสานงานกลาง จัดตั้งโดยกระทรวงดิจิทัลฯ มีอำนาจและหน้าที่ประสานงานกับศูนย์ประสานประจำกระทรวงและศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด ในการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอม และสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสอดส่องดูแลข้อมูลข่าวสารปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์

2.ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง มีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นข่าวปลอมเพื่อตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง โดยให้ปลัดกระทรวงตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข่าวปลอม ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

และ 3.กระทรวงมหาดไทย จัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ มีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่า อาจเป็นข่าวปลอม เพื่อตรวจสอบและพิจารณาเนื้อหา ชี้แจงให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอม และดำเนินการตามกฎหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

 

 

อย่าลงเชื่อข่าวปลอม

นอกจากนี้ ดีอีเอส ยังได้มีการร่วมงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ประกอบด้วย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระดมทุกกลยุทธ์เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อลวง ทั้งในแง่ของการจัดการกับข่าวปลอม และการปราบปรามดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย กรณีเป็นการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

 

“ขอฝากเครือข่ายทุกท่านเป็นหูเป็นตา และหากหากพบว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น พนันออนไลน์ ลามกอนาจาร หมิ่นสถาบัน ละเมิดลิขสิทธิ์ และเข้าข่ายผิดกฎหมายอาหารและยา เป็นต้น กระทรวงฯ จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยยื่นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ลบข้อมูล หรือการหลอกลวงออนไลน์ และภัยจากแก๊ง Call Center ให้แจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 หรือสายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี www.thaipoliceonline.com” นายชัยวุฒิกล่าว.