เปิดแอป“ทางรัฐ”มัดรวมบริการรัฐ ตอบโจทย์ประชาชนยุค New Normal

10 ก.ย. 2564 | 15:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2564 | 22:25 น.

DGA ร่วม กพร. เปิดพอร์ทัลบริการภาครัฐ “ทางรัฐ” แพลตฟอร์มกลางที่ออกแบบมาเพื่อตอบไลฟ์สไตล์ในแบบ New Normal ช่วยให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ จ่ายบิล หรือติดตาม สถานะการขอใช้บริการจากภาครัฐได้อย่างง่ายดาย ได้ทุกที่ทุกเวลา

นายอนุชา นาคาศัย  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวในงานสัมมนา Virtual Seminar DGA เปิดตัว ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ ทางลัดเข้าถึงบริการรัฐได้ทุกช่วงวัย ว่านโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ถือเป็นโยบายเร่งด่วนสำคัญที่รัฐบาลเร่งผลักดันมาโดยตลอด “การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล” เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยที่รัฐบาลนั้นจะดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน โดยมุ่งสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ พัฒนาระบบจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของทางราชการที่สำคัญให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งบุคคลและนิติบุคคล เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินความจำเป็น ลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการให้บริการในทิศทางที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ

เปิดแอป“ทางรัฐ”มัดรวมบริการรัฐ ตอบโจทย์ประชาชนยุค New Normal

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 นับว่าเป็นหลักสำคัญในการทำงานของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นให้เกิดความ “เชื่อมโยง” และ เป็นรัฐบาลที่เปิดเผยและโปร่งใส โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงยกระดับบริการของรัฐให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่ายการทำธุรกรรม อันเป็นประโยชน์และทำให้เกิดความพึงพอใจทั้งจากประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งยังเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว เมื่อต้องขับเคลื่อนการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. จึงร่วมกับหน่วยงานรัฐ  ได้จัดทำแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการให้บริการประชาชน โดยการพัฒนาระบบบริการกลางที่รวบรวมงานบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ทั้งความต้องการและความคาดหวังของประชาชน รวมถึงต้นแบบการพัฒนาบริการดิจิทัลจากประเทศผู้นำ เพื่อนำไปสู่การออกแบบแนวทางการพัฒนาบริการดิจิทัลสำหรับประเทศไทย นอกจากนี้ สพร. ยังได้รวบรวมข้อมูลบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชน พร้อมสำรวจสถานภาพปัจจุบันและนำมาจัดลำดับความสำคัญของงานบริการ เพื่อวางกรอบระยะเวลาการพัฒนาที่ สพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนต่อได้จริงในทิศทางที่สอดคล้องกัน

จากแนวทางดังกล่าวข้างต้น สพร.จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลางขึ้น ภายใต้ชื่อ “ทางรัฐ” ช่องทางที่สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้จากจุดเดียวได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่ง ตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย อย่างทั่วถึง เท่าเทียม จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐสำคัญที่เกี่ยวข้อง

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ  สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)กล่าวว่าในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ‘นำภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล’ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ มาช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง

เปิดแอป“ทางรัฐ”มัดรวมบริการรัฐ ตอบโจทย์ประชาชนยุค New Normal

เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในยุคความปกติใหม่ หรือ New Normal ให้ดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เข้าถึงบริการของรัฐได้ง่ายขึ้น ตามความคาดหวังของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ที่ในระยะเวลาอันใกล้นี้หน่วยงานรัฐจะถูกคาดหวังว่าจะสามารถเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เพียงแค่ในเวลาราชการเท่านั้น ดังนั้นการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็นพอร์ทัลกลางจึงเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้แข่งขันได้

ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือที่สำคัญกับหลายหน่วยงานภาครัฐได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), กรมการปกครอง และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี

ทั่งนี้พอร์ทัลกลางจะครอบคลุมบริการตรวจสอบสิทธิ ร้องเรียน ชำระเงิน ตลอดจนบริการข้อมูลและคำปรึกษา โดยแบ่งเป็นระยะดังนี้ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2564 เป็นระยะเริ่มต้น คือ สิทธิและสวัสดิการ จะมีบริการ สิทธิประกันสังคม โดย สำนักงานประกันสังคม เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร โดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) สิทธิหลักประกันสุขภาพ โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ LandsMaps โดย กรมที่ดิน

สำหรับในระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 เป็นระยะเติมเต็ม จะมีบริการยอดนิยม เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีรถยนต์ ขอป้ายทะเบียนรถ ขอรับบริการแผนที่ และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ฯลฯ   และ ระยะที่ 3 ปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็นระยะต่อยอด จะมีงานบริการเฉพาะทาง เช่น เงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเกษตร ใบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร และตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เป็นต้น

ซึ่งแอปพลิเคชันทางรัฐนี้เป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบมาเพื่อตอบไลฟ์สไตล์ในแบบ New Normal ช่วยให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ จ่ายบิล หรือติดตาม สถานะการขอใช้บริการจากภาครัฐได้อย่างง่ายดาย ได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการยกระดับการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็สามารถนำข้อมูล และบริการต่าง ๆ มาให้บริการผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ด้วย

สำหรับการดาวน์โหลด ‘แอปพลิเคชันทางรัฐ’ นี้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง App Store และ Google Playและสามารถเลือกช่องทางการลงทะเบียนได้ตามความสะดวก เช่น ช่องทางที่ 1 เมื่อดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐ แล้วยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ เรียบร้อย ก็เข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที ส่วนช่องทางที่ 2 หากท่านอยู่ใกล้จุดติดตั้งตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ ก็สามารถลงทะเบียนใช้งานแอปฯ ทางรัฐได้ง่ายๆ เช่นกัน และสำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชัน D.DOPA ก็สามารถลงทะเบียน แอปฯ ทางรัฐ' ผ่านระบบ D.DOPA ได้เลย เพียงไม่กี่ขั้นตอน ทุกท่านก็จะพบกับบริการของแต่ละหน่วยงานที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้ทุกท่านได้ในทุกช่วงวัยกว่า 30 บริการ ผมขอยกตัวอย่างบริการในแต่ละช่วงวัยเพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพ

เริ่มตั้งแต่วัยแรกเกิด ซึ่งมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของประเทศไทยช่วยครอบครัวยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่สามารถเข้ามาตรวจสอบสถานะสิทธิได้ผ่านเมนูในแอปฯ ทางรัฐนี้

สำหรับวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยที่ทุ่มเทในเรื่องการเรียนและความก้าวหน้าทางการศึกษา แอปฯ ทางรัฐก็มีเมนูที่ตอบโจทย์วัยนี้ คือ เมนูหนังสือรับรองผลฯ O-Net/A-NET ที่น้องๆ สามารถดูผลคะแนนจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้เลย

และสำหรับวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยแห่งการสร้างครอบครัว เราก็มีบริการภาครัฐรองรับการเติบโตต่อยอด ด้วยเมนูตรวจสอบเครดิตบูโรโดยเมื่อท่านยืนยันตัวตนที่ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ หรือเข้าด้วย D.DOPA ก็สามารถขอข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป ของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ผ่านแอปฯ ทางรัฐได้

นอกจากนี้ วัยทำงานยังสามารถเข้าตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ของ สำนักงานประกันสังคมได้ด้วย โดยท่านจะทราบถึงข้อมูล สิทธิการรักษาพยาบาล สถานะผู้ประกันตนได้เพียงไม่กี่นาที และสำหรับช่วงรอยต่อของวัยทำงานที่กำลังเตรียมเข้าสู่ช่วงวัยชรา ก็สามารถเช็กยอดเงินสมทบชราภาพผ่านแอปฯ ทางรัฐได้ด้วย

รวมไปถึงเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ท่านสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องไปขอข้อมูลหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการสำเนาเอกสารลงได้ อาทิ ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ของ กรมการปกครอง เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสที่มือถือของท่านได้เลย อีกทั้งยังมีบริการด้านสาธารณูปโภค อาทิ บริการตรวจสอบข้อมูลค่าไฟ ของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ค่าน้ำ ของการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค นอกจากสามารถเช็กข้อมูลได้แล้ว ทุกท่านยังสามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในอนาคตแอปฯ ทางรัฐ จะมีระบบแจ้งเตือน เมื่อถึงช่วงวัยนั้นๆ เพื่อให้ทุกท่านไม่พลาดโอกาสได้รับสิทธิบริการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งในระยะแรกจะมีการแจ้งเตือนสิทธิต่างๆ ที่ทุกท่านพึงได้รับเท่านั้น ในระยะถัดไปจะมีการพัฒนาให้สามารถขอใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งจะนำไปสู่เรื่องของการติดตามการบริการหรือการร้องเรียน และบริการอื่นๆ ของรัฐ เป็นต้น โดยอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ นำบริการที่ครอบคลุมกว่า 100 บริการ มาให้บริการประชาชนได้อย่างใกล้ชิดติดมือถือ ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของบริการรัฐที่ร่วมมือกันให้เกิดศูนย์รวมบริการภาครัฐให้สามารถบริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว

และนี่คือการวางบริการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของบริการบนแอปพลิเคชันทางรัฐ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของความมือในการสร้างองค์ประกอบต่างๆ ของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ