ระวังข่าวปลอม ร.พ.กรุงเทพเปิดลงทะเบียนจองวัคซีน Pfizer ผ่านเว็บ siampfizer

02 ส.ค. 2564 | 16:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2564 | 23:18 น.

โฆษกดีอีเอส เตือนข่าวปลอมโรงพยาบาลกรุงเทพเปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีน Pfizer ผ่านเว็บ siampfizer ย้ำเป็นการแอบอ้างและหลอกลวงประชาชน

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า  ตามที่ได้มีการส่งต่อลิงก์ในสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง โรงพยาบาลกรุงเทพเปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีน Pfizer ผ่านเว็บ siampfizer ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ระวังข่าวปลอม ร.พ.กรุงเทพเปิดลงทะเบียนจองวัคซีน Pfizer ผ่านเว็บ siampfizer

กรณีการส่งลิงก์ลงทะเบียนจองสิทธิวัคซีนทางเลือก (Covid-19 Vaccine) ยี่ห้อไฟเซอร์ พร้อมทั้งให้ชำระเงินค่าวัคซีน ที่เว็บ https://siampfizer.com/ นั้น ทางบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า โรงพยาบาลยังไม่ได้ทำการเปิดให้ลงจองวัคซีน Pfizer แต่อย่างใด  มีบุคคล และ/หรือ กลุ่มบุคคล ไม่ทราบชื่อ นำภาพถ่ายของบุคลากรทางการแพทย์, ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า BDMS, B+ และ BANGKOK HOSPITAL ของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเว็บไซต์ https://siampfizer.com/ เพื่อใช้ประกอบการแอบอ้างและหลอกลวงประชาชนทั่วไปให้หลงเชื่อว่า บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และ/หรือ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิวัคซีนทางเลือก (Covid-19 Vaccine) ยี่ห้อไฟเซอร์ พร้อมทั้งให้ชำระเงินค่าวัคซีนดังกล่าว อันเป็นความเท็จ โดยบริษัทฯ, โรงพยาบาลกรุงเทพ และบุคลากรทางการแพทย์ มิได้อนุญาตให้นำภาพถ่ายของบุคลากรทางการแพทย์ ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า BDMS, B+ และ BANGKOK HOSPITAL ของบริษัทฯ ไปใช้รวมทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทฯ, โรงพยาบาลกรุงเทพ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่หลงเชื่อได้รับความเสียหาย  โดยประชาชนสามารถรับข้อมูลข่าวสารจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ที่เว็บ www.bangkokhospital.com หรือ เฟซบุ๊ก ‘Bangkok Hospital โรงพยาบาลกรุงเทพ’ หรือโทร 02 310 3000

   

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

ระวังข่าวปลอม ร.พ.กรุงเทพเปิดลงทะเบียนจองวัคซีน Pfizer ผ่านเว็บ siampfizer

 

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง