แอป "ฟู้ดเดลิเวอรี"หัวบันไดไม่เคยแห้ง ขาดทุน แต่เนื้อหอมสุด

07 ก.ค. 2564 | 20:20 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 21:38 น.
3.3 k

แอปบริการส่งอาหาร หรือ แอปฟู้ดเดลิเวอรี แม้ที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจนี้จะรุนแรงดุเดือด ผู้ประกอบการทุกรายมีผลประกอบการขาดทุนหมด โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 62 ผู้ประกอบการ 4 ราย มีตัวเลขขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท

ไลน์แมน (ประเทศไทย) มีรายได้ 49.92 ล้านบาท  ขาดทุน -157.24 ล้านบาท  GoJek ในนามบริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล จำกัด มีรายได้ 133.32 ล้านบาท   ขาดทุน  -1,137.30 ล้านบาท , Food Panda ในนามบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ 818.15 ล้านบาท  ขาดทุน -1,264.50 ล้านบาท  และGrab ในนามบริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด  รายได้ 3,193.18 ล้านบาท  ขาดทุน -1,650.10 ล้านบาท    

 

อย่างไรก็ตามธุรกิจแอปบริการสั่งอาหารยังคงเนื้อหอม ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึงภาคธุรกิจ ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจแอปฟู้ดเดลิเวอรี  เพื่อต้องการต่อยอดธุรกิจ และเชื่อมโยงธุรกิจไปสู่ดิจิทัล

 

ธุรกิจแอปฟู้ดเดลิเวอรีเป็นเหมือนกับอี-มาร์เก็ตเพลส เมื่อ 10 ปีที่แล้ว  โดยธุรกิจ แอปฟู้ดเดลิเวอรี เกิดขึ้นมา 4 ปี ยังเป็นช่วงการลงทุน ทุกรายเล่นเกมสาดเงิน ทุ่มงบการตลาด จัดโปรโมชัน แจกโค้ดส่วนลดค่าอาหาร ค่าส่ง เพื่อสร้างฐานผู้ใช้บริการขึ้นมา   

 

ขณะที่โอกาสทางธุรกิจนั้น ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี อยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวด  ในยุค “เศรษฐกิจขี้เกียจ” (Lazy Economy) ผู้คนหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อประหยัดแรงงานและเวลา  ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดโควิด ยิ่งเป็นเร่งให้แอปฟู้ดเดลิเวอรี เติบโตรวดเร็วขึ้น แต่ละรายเติบโต 200-300%    เกิดกลุ่มผู้ใช้ใหม่  ขณะที่คนคุ้นชินกับบริการแอปฟู้ดเดลิเวอรี  รวมถึงการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี ขยายตัวอย่างรวดเร็วในต่างจังหวัด  ฐานผู้ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีเหล่านี้ ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของธุรกิจดิจิทัล ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดเกื้อหนุนธุรกิจ และบริการดิจิทัลออกไปได้หลากหลาย  หรือสามารถนำไปต่อยอดสู่การเป็น”ซูเปอร์แอป” ที่มัดรวมบริการดิจิทัลต่างๆ เข้าด้วยกัน    

แอป \"ฟู้ดเดลิเวอรี\"หัวบันไดไม่เคยแห้ง ขาดทุน แต่เนื้อหอมสุด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562  กลุ่มเซ็นทรัล ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจกับ แกร็บ โฮลดิ้งส์ อิงค์ และลงทุนเป็นจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นแบบไม่มีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยยะสำคัญใน แกร็บ ประเทศไทย   โดยกลุ่มเซ็นทรัลและแกร็บได้ตกลงผสานความร่วมมือกันทั้งในด้านการให้บริการเดินทาง  การส่งอาหารและสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต ลอจิสติกส์  และบริการอื่นๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าแก่ลูกค้า พันธมิตร คู่ค้า และผู้เช่า ของทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและแกร็บ”

ขณะที่ปี 2563 ไลน์แมน (LINE MAN) ควบรวมกิจการบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด หรือ Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวและค้นหาร้านอาหารชั้นนำของเมืองไทย  ภายหลังบรรลุข้อตกลงด้านเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) จากบริษัท BRV Capital Management (BRV)   การควบคุมกิจการครั้งนี้นั้นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทที่ควบรวมใหม่ ไลน์แมน วงใน  และต่อยอดการพัฒนาในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดประเทศไทย  โดย ไลน์แมน ผู้ให้บริการเดลิเวอรีชั้นนำที่มาพร้อมแนวคิดผู้ช่วยเบอร์หนึ่งในแบบออนดีมานด์และบริการอย่างมืออาชีพแก่ผู้ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน 6 บริการ ประกอบด้วย ฟู้ดเดลิเวอรี, บริการซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต, แมสเซนเจอร์, ส่งพัสดุ, เรียกแท็กซี่ และบริการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ โดยปัจจุบันมีพันธมิตรร้านอาหารมากกว่า 300,000 ร้านค้า ส่วนวงใน  มีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ด้วยฐานข้อมูลร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในไทยกว่า 620,000 ร้านทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานไลน์แมนสามารถสั่งอาหารจากร้านที่อยู่บนฐานข้อมูลของวงในได้

ล่าสุดมาถึงคิว Gojek ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีชื่อดังสัญชาติอินโดนีเซีย     ที่บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับ “แอร์เอเชีย ดิจิทัล” หน่วยธุรกิจด้านดิจิทัลภายใต้กลุ่มแอร์เอเชีย  โดยแอร์เอเชียดิจิทัลจะเข้าถือหุ้นใน  Gojek ประเทศไทย  โดยข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามแผนการเดินหน้าขยายการเติบโตของ airasia super app ให้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ Gojek สามารถเพิ่มการลงทุนในการดำเนินงานได้ โดยเฉพาะในตลาดเวียดนามและสิงคโปร์

 

ในทางกลับกัน Gojek จะเข้าถือหุ้นบางส่วนในแพลตฟอร์ม airasia super app ซึ่งมีมูลค่าประเมินทางตลาดอยู่ที่ประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างมีรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสใหม่ในการดำเนินธุรกิจและเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ airasia super app ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมศักยภาพและสร้างระบบนิเวศธุรกิจของ Gojek ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับพนักงานรับส่งของ ร้านค้า และลูกค้าด้วยสินค้าและบริการใหม่ๆที่มีมากขึ้น เช่น อาหาร ของชำ สินค้าเกี่ยวกับความงาม และการจัดส่งพัสดุด่วน ควบคู่ไปกับบริการเรียกรถรับ-ส่ง โดยตั้งเป้าขยายสู่ตลาดใหม่ในประเทศ อาทิ เชียงใหม่และภูเก็ตในอนาคตอันใกล้

 

แอพพลิเคชัน Gojek จะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ สำหรับผู้ใช้เพื่อรับบริการในกรุงเทพฯ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 จนกระทั่งรวมกับ airasia super app  ในขณะที่พนักงานรับส่งของทุกคน และร้านค้า จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานกับ airasia super app เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้แอร์เอเชียจะทำงานร่วมกันกับทีมงาน Gojek ประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าการให้บริการของ Gojek เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะย้ายไปใช้ airasia super app จะเกิดการถ่ายทอด ส่งต่อข้อมูลและความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความต้องการของผู้ใช้บริการชาวไทย เพื่อให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับนานาชาติของ Gojek ในเรื่องการเพิ่มการลงทุนการดำเนินงานในประเทศเวียดนามและสิงคโปร์ ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในอนาคต ซึ่งรวมถึงการขยายแนวคิดริเริ่มในการขับเคลื่อนและการเข้าซื้อกิจการของผู้ค้า ยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ ตลอดจนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ