GCNTผนึกทัพธุรกิจชูธงยั่งยืนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

27 ส.ค. 2563 | 15:11 น.

วิกฤติเศรษฐกิจผันผวนระดับโลกที่ทวีความถี่และรุนแรงขึ้นในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา วิกฤติได้ลุกลามไปทั่วโลก เริ่มจากวิกฤติหนี้ในเอเชีย ยุค 1990 วิกฤติหุ้นกู้ในละตินอเมริกาปี 2000 รวมถึงวิกฤติสินเชื่อทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินในธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา (US Subprime) หรือ เรียกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 แม้กระทั่งเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brother) วาณิชธนกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา ต้นแบบของโลกเสรีการเงิน ยังต้องอยู่ในภาวะล้มละลาย

บทเรียนจากวิกฤติจึงทำให้เกิดแนวคิดการปรับกระบวนทัศน์การทำธุรกิจใหม่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจได้ริเริ่มการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายแสวงหาแนวทางการทำธุรกิจในระยะยาว ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจนลามกลับมาสู่ธุรกิจ เพราะตระหนักดีว่า “ภาคธุรกิจไม่อาจจะเติบโตได้ท่ามกลางความล่มสลายของสังคมและสิ่งแวดล้อม”  จึงร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ที่ไม่เพียงคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดให้กับบริษัท แต่จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องธุรกิจให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันจึงจะอยู่รอดได้

สอดคล้องกันกับทิศทางองค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) เล็งเห็นว่าภาคธุรกิจควรตระหนักและให้ความสำคัญกับบทบาทความเป็นบรรษัทพลเมือง (Corporate Citizenship) เพราะสิ่งที่ภาคธุรกิจดำเนินการล้วนส่งผลกระทบต่อโลกทั้งในทางบวกและทางลบอย่างมากมายมหาศาล จึงเกิดความพยายามสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจภายใต้ UN Global Compact ในปี 2542 เชิญชวนให้ภาคธุรกิจ ทั้งหลายเข้าร่วมทำข้อตกลงภายใต้หลักสากล สร้างพันธสัญญาภาคธุรกิจจะทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยมีพันธสัญญา UN Global Compact ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับ 4 มิติการพัฒนา คือ 1.การเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน 2.การคุ้มครองสิทธิ์แรงงาน 3.การรักษาสิ่งแวดล้อม และ 4.การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

จากนั้นในปี 2543 จึงได้วางกรอบการพัฒนาอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมและป้องกันจึงวางหลักปฏิบัติ 10 ประการที่สอดคล้องกับ 4 มิติการพัฒนา เป็นแนวทางให้เกิดบรรษัทพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ(Responsible Corporate Citizen) ระดับโลก ในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาของUN ภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิกจะได้รับความน่าเชื่อถือ และมีแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักสากล และมีบทบาทส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในกลุ่มธุรกิจ ทำให้เกิดการรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม ประเทศ และโลก เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันเครือข่าย UNGC ถือเป็นเครือข่ายการพัฒนายั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสมาชิกกว่า  12,000 บริษัท กระจายตัวอยู่ใน 156 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทที่เข้าร่วมเป็น UNGC มีทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดกลาง จนบริษัทขนาดเล็ก รวมไปถึงมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร และสมาชิกอื่นที่ไม่อยู่ในรูปบริษัท ซึ่งองค์กรที่เป็นสมาชิกจะได้รับความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับระดับสากลถึงการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ไม่ส่งผลกระทบกับสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก อาทิ โคคา-โคลา, พีแอนด์จี, เนสท์เล่, เป๊บซี่-โคล่า, ยูนิลีเวอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เป็นต้น

โดยสมาชิกองค์กรที่เข้าร่วมจะต้องมีเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนให้สอดคล้องกันกับแผนแม่บท 4 เสาหลัก และหลักปฏิบัติ 10 ประการ โดยมีการจัดทำรายงานความยั่งยืนประจำปี และสามารถเป็นผู้นำที่มีบทบาทในกิจกรรมร่วมกับ UNGC ทั้งระดับสากล และระดับประเทศอย่างสมํ่าเสมอ

พันธสัญญาGCNTสานต่อ17เป้าหมายSDGs

GCNTผนึกทัพธุรกิจชูธงยั่งยืนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย หรือ Global Compact Network Thailand เปิดเผยถึงที่มาของเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand)  หรือ GCNT ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เริ่มต้นมีสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกในไทย 60 บริษัท ถือเป็นเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ลำดับที่ 70 ของ UNGC โดยสมาชิก GCNTมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันกับ UNGC คือการตั้งเป้าภายในปี 2573 เป็นเครือข่ายที่ส่งต่อกระแสการทำธุรกิจทั่วโลกอย่างยั่งยืน ในกลุ่มบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในแบบที่พวกเราทุกคนต้องการ

“GCNT เกิดจาการที่ทาง คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมGCNT ในปัจจุบันได้รับพันธสัญญาจากทางนิวยอร์ค UNGC ให้จัดตั้งเครือข่ายระดับท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นในปี 2558 และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในปี 2560 เพื่อรวบรวมสมาชิกในประเทศไทยร่วมกับขับเคลื่อนพันธกิจของUNทั้ง 4 เสาหลัก”

โดยสมาชิกเครือข่าย GCNT ที่เกิดขึ้นในไทย 60 บริษัทในปัจจุบัน มีทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่มีรูปแบบการพัฒนาธุรกิจยั่งยืน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ปตท., เอสซีจี,  ไทยออยล์, ไออาร์พีซี, ไทยยูเนี่ยน, ไทยเบฟเวอเรจ และมิตรผล เป็นต้น 

 “การเข้าร่วมเป็นสมาชิกเหมือนได้รับรองที่ไปคุยกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะทุกคนก็ต้องรู้จักตราประทับนี้ UNGC ที่มีมูลค่าของในตัว ซึ่งมีเครือข่ายที่เป็นสมาชิกทั้ง 60 รายแรก มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

สมาคมเครือข่าย GCNT มุ่งมั่นที่จะผนึกกำลังและรวมกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศไทยเป็นต้นแบบโมเดลความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม เอกชน และภาครัฐ ร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำแนวทางมากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ พร้อมกันกับมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันยังมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเครือข่าย GCNT สามารถมีส่วนร่วมนำเสนอแผนการรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนชาติให้สอดคล้องกับแผนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ทั้ง 17 ด้าน ของ UN ประกอบด้วย 1. ความยากจน 2. ความหิวโหย 3. สุขภาวะ 4. การศึกษา 5.ความเท่าเทียมทางเพศ 6. นํ้าและการสุขาภิบาล 7. พลังงาน 8. เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9. โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10. ความเหลื่อมลํ้า 11. เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12. แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14. ทรัพยากรทางทะเล 15. ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16.สังคมและความยุติธรรม และ 17. หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดย UN ได้วางแผนติดตามผลให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 และเป้าหมายการลดอุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ปักธง5กลยุทธ์ร้อยเรียงพลังเครือข่ายยั่งยืน

ทั้งนี้ GCNT ได้วางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนายั่งยืนโดยมีภารกิจหลักใน 5 ด้าน คือ1.เพิ่มการตระหนักรู้ โดยเพิ่มความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนผ่านรูปแบบต่างๆ สนับสนุนองค์ความรู้และส่งเสริมการดำเนินงานระดับประเทศ อาทิ จัดทำคู่มือ จัดอบรมเกี่ยวกับการพัฒนายั่งยืน รวมถึงจัดทำดัชนีที่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานการเขียนรายงานความยั่งยืน โดย GCNT เป็นตัวกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการจัดทำรายงานของแต่ละบริษัท เพื่อสร้างมาตรฐานและตัวชี้วัดการจัดทำรายงานความยั่งยืนของไทย ที่จะช่วยทำให้ภาคธุรกิจเข้าใจการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกันกับยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 

2.ผนึกกำลังทุกภาคส่วน แสวงหาความร่วมมือสร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ โดยมีการสร้างแรงจูงใจและสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการมอบรางวัลต้นแบบการพัฒนายั่งยืน โดยการร่วมมือกับภาครัฐในการจัดทำการประกาศรางวัล

3.เพิ่มขีดความสามารถ มีการจัดทำกิจกรรมเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดทำกลยุทธ์ความยั่งยืนของแต่ละองค์กร ทำบทสรุปที่สอดคล้องกัน โดยดึงผู้นำ (Leadership) สร้างความเปลี่ยน แปลงด้านการพัฒนา (Change Agent) ของแต่ละองค์กรมาร่วมพูดคุยแสวงหาแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกันและขับเคลื่อนร่วมกัน โดยการมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนายั่งยืนมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหลักปฏิบัติจะช่วยทำให้เกิดการวางกรอบ คู่มือที่เหมาะสม เป็นการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทางความคิดและการทำงานเป็นกลไกอำนวยความสะดวกในการเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

4.รณรงค์นโยบายระดับชาติ มีบทบาทเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและนำเสนอนโยบาย ผลักดันให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ มีทีมงานเชื่อมต่อการทำงานของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนปัญหา โดยผลักดันให้เกิดต้นแบบปฏิบัติที่ดี (Best Practice)

และ5.ขยายเครือข่ายเพื่อความร่วมมือที่แข็งแกร่ง มีการขยายฐานสมาชิกจากหลากหลายภาคส่วน เข้ามาเป็นฐานสมาชิกเป็นการขยายพลังเครือข่ายให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น  โดยมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกให้ได้ 200 ราย ภายในสิ้นปี 2564

 

 

พลิกแนวคิดฝ่าวิกฤติ ทำธุรกิจยั่งยืนในวิถีใหม่

วิกฤติโควิด เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส เพราะการทำงานยากภายใต้ความซับซ้อน โลกเกิดวิกฤติด้านระบบสาธารณสุข และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาวะเป็นหลัก จึงส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อโลก ที่สะท้อนให้เห็นว่าการกระทำ ของมนุษย์และภาคธุรกิจทำให้เห็นช่องว่างของปัญหาชัดเจนขึ้น อาทิ ความเหลื่อมลํ้าทางสังคมที่ยังมีความเปราะบาง ความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเมื่อหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องตื่นตัวในการนำการพัฒนายั่งยืนมากำหนดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตามวิกฤติโควิด ถือเป็นปัญหาโรคคระบาดสามารถบริหารจัดการได้ เมื่อมีการคิดค้นวัคซีนปัญหาดังกล่าวก็จะเริ่มคลี่คลายลง แต่สิ่งที่ประชากรโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างต่อเนื่อง คือความเหลื่อมลํ้า ภัยธรรมชาติ การกระจายรายได้ การศึกษา และความเท่าเทียมในสังคม และเป็นภารกิจใหญ่ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งนี้เนื่องจากภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลทำให้เกิดการดำเนินชีวิตและธุรกิจในวิถีใหม่ (New Normal)จึงเป็นความท้าทายและเป็นคำถามถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีใหม่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อโลกธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาซับซ้อนและท้าทายกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล

นี่จึงเป็นที่มาจัดเวทีสัมมนา “วิถีคิดผู้นำสู่ความยั่งยืนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่” (Leadership for Sustainability under the New Normal) ในโอกาสการฉลองครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (On the Occasion of the 20th Anniversary of United Nations Global Compact) จัดโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ณ ห้องเอสแคป ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ประกาศเจตนารมณ์ธุรกิจนํ้าดีกู้วิกฤติโลก

โดยการจัดงานจะเป็นเวทีแถลงและหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้นำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ (UN) ได้แสดงความพร้อม มุ่งมั่นในการประกาศเจตนารมณ์จากสมาชิก GCNT ที่จะผนึกกำลังในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีใหม่ เป็นการตอกยํ้าความตั้งใจจริงของทุกฝ่ายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมหาทางออกผ่านความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ (Public-Private Partnership-PPP) เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนภายในปี 2573

"แม้จะมีวิกฤติโควิด -19 ทำให้เกิดความท้าทายในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDG มากยิ่งขึ้น แต่ก็ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัว ไม่ละทิ้งความพยายาม มุ่งร่วมมือกันแก้ไขปัญหาใหญ่ของโลก ภารกิจUN เหลือเวลาอีก 10 ปี ในปี 2573 ส่วนยุทธศาสตร์ชาติก็เช่นเดียวกัน จึงถึงเวลาที่จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้โลกฟื้นตัว ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด การดำเนินชีวิต และการทำธุรกิจ สร้างสังคมใหม่ที่มีจิตวิญญาณของความยั่งยืน เพื่อส่งต่อโลกยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป”

ภายในงานเสวนาจะเป็นเวทีของผู้นำมาแสดงวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนายั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด-19” 

GCNTผนึกทัพธุรกิจชูธงยั่งยืนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

พร้อมกันนั้นยังมีผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของ UN Global Compact และผู้นำภาคธุรกิจกว่า 200 ท่าน มาร่วมแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าเดิมและเติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคม เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย คุณ Sanda Ojiambo ซีอีโอของ United Nations Global Compact คุณ Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator -UNRC) ประจำประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงชั้นนำจาก 54 องค์กรสมาชิกในไทย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มบริษัท ปตท., กลุ่มมิตรผล, อินโดรามา เวนเจอร์ส, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และตัวแทนจากสหประชาชาติสำนักงานประเทศไทย เป็นต้น

รองเลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า วิกฤติทำให้เกิดยุคแห่งโอกาสของธุรกิจสีขาว สีเขียว หรือสีฟ้า ถือเป็นธุรกิจนํ้าดีที่สร้างธุรกิจให้เติบโตได้จากการสร้างสังคมดี สิ่งแวดล้อมที่ดี การเข้ามาร่วมมือกันสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนายั่งยืนจึงเป็นการตอบโจทย์ทั้งการเติบโตภาคธุรกิจ และโจทย์การแก้ไขปัญหาของโลกในปัจจุบัน