food-security
698

ม.มหิดล ชูนวัตกรรมพัฒนา "อ้อย" พืชเศรษฐกิจกาญจนบุรี สู่โปรตีนแพลนต์เบส

    มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมวิจัยพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น นำ "อ้อย" พืชเศรษฐกิจหลักของกาญจนบุรี มาสกัด "โปรตีน" พัฒนาเป็นวัตถุดิบอาหารแพลนต์เบส ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ เที่ยงสมพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า แม้สถานการณ์ทางการตลาดจะมีความผันผวนไปตามสถานการณ์โลก แต่เทรนด์อาหารจากพืช (Plant - based Food) จะยังคง “ไม่ถึงทางตัน” หากได้รับการพัฒนาจากแหล่งอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ 

ล่าสุด มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารแพลนต์เบสออนไลน์ในประเทศไทย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Heliyon” ว่าขึ้นอยู่กับ “ความไว้วางใจ” (Brand Trust) ของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงษ์ เที่ยงสมพงษ์

นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่เลือกซื้ออาหารแพลนต์เบส มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกจากความ “ใส่ใจสุขภาพ” แต่สาเหตุที่คนไทยไม่สามารถเข้าถึงอาหารแพลนต์เบสเท่าที่ควรเป็นเพราะยังคงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชน สว่างเพราะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางสู่การสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้กับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบส นอกจากการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายที่มีอัตลักษณ์แล้ว ยังสำคัญที่การสร้างคอนเทนต์ และกลยุทธ์ในการสื่อสาร ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อทั้งสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ก่อนแชร์ให้โลกรู้

ม.มหิดล ชูนวัตกรรมพัฒนา \"อ้อย\" พืชเศรษฐกิจกาญจนบุรี สู่โปรตีนแพลนต์เบส

และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบส คือการ “เข้าถึงแหล่งผลิตที่อุดมสมบูรณ์” ซึ่งถึงแม้จังหวัดกาญจนบุรีจะมีกำลังการผลิตแหล่งโปรตีนจากถั่วเหลืองปีละเพียง 31 ตัน แต่ด้วยพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 3 ล้านไร่ พบว่ายังมีผลิตผลทางการเกษตรของท้องถิ่นอีกมากมายที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสภายในประเทศ 

โดยนอกจาก “ถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นพืชโปรตีนสูงที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารแพลนต์เบสแล้ว ยังพบว่า “อ้อย” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากการให้ความหวานเป็นแหล่งพลังงานสำคัญแล้ว ยังอาจนำเอามาสกัด “โปรตีน” เพื่อใช้เป็น “วัตถุดิบทางเลือก” ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสได้ต่อไปอีกด้วย 

ที่สำคัญนอกเหนือไปจากการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสแล้ว ยังดีต่อสิ่งแวดล้อมในการช่วยป้องกันภัยแล้งจากการขาดแคลนทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ต้องทำให้โลกสูญเสียน้ำถึงกว่า 15,000 ลิตรต่อการผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม รวมทั้งยังช่วยลดการทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำได้ต่อไปอีกด้วย