วันนี้ (25 ธ.ค. 67) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม
สำหรับการประชุมดังกล่าวจะมีวาระสำคัญ 2 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการชะลอผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 (ไฟฟ้าสีเขียว) สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 เพิ่มเติม 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี พ.ศ.2571-2573
และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ พ.ศ.2569-2573 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้พิจารณาเห็นชอบและออกประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
สำนักงาน กกพ.กำหนดให้ผู้ผ่านการคัดเลือกลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ใน 14 วัน สำหรับกลุ่มที่ 1 และภายใน 60 วันสำหรับกลุ่มที่ 2 สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจประธาน กพช.ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน เพราะโครงการถูกท้วงติงจากหลายฝ่าย
ทำให้ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือถึงสำนักงาน กกพ.ให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวชั่วคราวแล้ว รวมถึงให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น และสำนักงาน กกพ.สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับแจ้งว่ารัฐมนตรีไม่ได้สอบถามอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการ อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีเพียงเพื่อรักษาการตาม พ.ร.บ.เท่านั้น และ กกพ.เป็นองค์กรอิสระ กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจบังคับบัญชา
และ 2.กพช.จะพิจารณาขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เอกชนผลิตได้แต่ไม่ได้เข้าระบบ ช่วงราคาพลังงานโลกพุ่งสูง กพช.มีมติให้ กกพ.รับซื้อราคาไม่แพง อาทิ ไฟฟ้าจากโซลาร์ ชีวมวล ยอดรวมไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะขยายออกไปอีก 1 ปี
นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามหลักการแล้ว กกพ.ถือเป็นองค์กรอิสระที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอ้างมติของกพช. เมื่อปี 2566 คือ กพช.ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ซึ่งก็มีความสงสัยอยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องนี้มีความซับซ้อนอยู่ ดังนั้น ในการประชุม กพช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปศึกษา ข้อเท็จจริง โดยมีการแจ้งขอให้ชะลอการรับซื้อไปก่อน แต่ปรากฏว่า กกพ. ไม่ได้ชะลอ ยังคงเดินหน้าคัดเลือก ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม
สำหรับเรื่องดังกล่าวนี้ กพช.ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การใช้มติของ กพช.เมื่อปี 2566 ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น คณะกรรมการ กพช.ชุดปัจจุบัน ก็จะมีการเรียกประชุมเพื่อดำเนินการอีกครั้ง
แหล่งข่าวจาก กพช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กพช.จะมีการประชุมในวันนี้เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยคาดว่าจะมีการสั้งการให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวไปก่อน เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงอีกครั้ง
แหล่งข่าวจาก กกพ. ระบุว่า คำสั่งของ กพช.ถือเป็นเด็ดขาด และมีอำนาจสูงกว่า ซึ่งหาก กพช.มีมติให้ชะลอ กกพ.ก็ต้องปฏิบัติตาม