energy

"กฟผ." เร่งศึกษาโรงไฟฟ้า "SMR" ลดความผันผวนค่าไฟในประเทศ

    "กฟผ." เร่งศึกษาโรงไฟฟ้า "SMR" ลดความผันผวนค่าไฟในประเทศ ชี้ทิศทางค่าไฟปีหน้าต้นทุนยังขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก ระบุเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงทิศทางค่าไฟฟ้าในปีหน้าว่า ต้นทุนของค่าไฟฟ้าในขณะนี้ยังขึ้นอยู่กับราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น 

และส่วนหนึ่งทำให้ กฟผ. กำลังศึกษาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) จากทั่วโลกเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะ SMR เป็นพลังงานคงที่ สามารถส่งกำลังไฟได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน และเป็นเชื้อเพลิงสีเขียวที่ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์

“ขณะที่การบริหารต้นทุนเพื่อดูแลการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) นั้น ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.เคยรับภาระค่าเอฟทีสูงสุดที่ 150,000 ล้านบาท แต่ในขณะนี้ได้ทยอยได้คืนมาบ้างเหลืออยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท ซึ่งทำให้ภาระหนี้ที่ กฟผ.กู้มาเพื่อเสริมสภาพคล่อง 110,000 ล้านบาท ลดลงเหลือประมาณ  70,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 68 กฟผ.ก็จะพยายามรักษาและบริหารจัดการสภาพคล่องให้เพียงพอ เพราะ กฟผ.เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องช่วยประชาชนในการดูแลค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีไม่ให้กระทบมากเกินไป โดยเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง”

ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด ซึ่งการจะทำให้จ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้นทุนจะค่อนข้างสูง กฟผ. จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสนใจและบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพราะตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้

"กฟผ." เร่งศึกษาโรงไฟฟ้า "SMR" ลดความผันผวนค่าไฟ

โดยออกแบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลง ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลเดียวกัน ลดความซับซ้อนของระบบทำให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า อีกทั้งแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงที่มีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ปริมาณน้อยแต่ให้พลังงานความร้อนมหาศาล ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน นอกจากนี้การออกแบบที่มีความปลอดภัยมากขึ้นทำให้พื้นที่ในการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินลดลงด้วย โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตร ขณะที่โรงไฟฟ้า SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร เท่านั้น 
 

สำหรับโรงไฟฟ้า Linglong One  ในมณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นโรงไฟฟ้า SMR บนพื้นดินเชิงพาณิชย์รุ่นแรกของโลก ซึ่ง กฟผ. มองว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจและต้องเร่งศึกษา รวมถึงเทคโนโลยี SMR ของประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีการพัฒนามากกว่า 80 แบบ จาก 18 ประเทศทั่วโลก ต้องนำมาเปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีใดดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งหารือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการทำงานและข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR และเกิดการยอมรับ ด้าน กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปีแล้ว

ส่วนการประเมินเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR คาดว่าจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประมาณ 2 - 3 เท่า แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีอายุการใช้งาน 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก ดังนั้นหากคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของโรงไฟฟ้าก็ถือว่าใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และในอนาคตมูลค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า SMR ก็จะถูกลงอีก ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้ามีราคาที่แข่งขันได้มากยิ่งขึ้น 

“ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ที่ตอบโจทย์ความมั่นคง ไฟฟ้าสีเขียว และมีราคาแข่งขันได้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ”