นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (รสนา โตสิตระกูล) ระบุว่า
รัฐบาลอ้างลดค่าครองชีพ แต่ขยับตรึง "ดีเซล" ไม่เกิน 33 บาท ขอถาม ลดค่าครองชีพ หรือเปิดช่องให้ผู้ค้าน้ำมันดันกำไรเพิ่มกันแน่
ข่าวระบุว่าวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดำเนินการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนที่กำลังจะสิ้นสุดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
โดยมี 3 มาตรการหลักเพื่อตรึงราคาดีเซล ก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าไปอีก 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม)
มาตราการตรึงราคาดีเซลคือให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินราคา 33 บาทต่อลิตร จากเดิม 30.94 บาท/ลิตร ขยับเพิ่มจากเดิม อีก 2.06 บาท/ลิตร
มาตรการแบบนี้ ควรเรียกว่าเป็นช่วยลดภาระค่าครองชีพหรือไม่ หรือควรเรียกว่าเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ค้าขยับราคาสูงขึ้นจาก 30.94 บาท/ลิตรเป็น 33 บาท/ต่อลิตร
คิดจากอะไร ให้กระทรวงพลังงานช่วยตอบชัดๆ
ขอเปรียบเทียบราคาดีเซลสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 กับรัฐบาลเศรษฐา ในวันที่7 พฤษภาคม 2567 ห่างกัน 10 ปีพอดี
ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้ำมันดิบตลาดดูไบราคาสูงระหว่าง 110-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น 25.90 บาท/ลิตรจึงมีการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 1 สต./ลิตร เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 10 สต./ลิตร ค่าการตลาด 1.77 บาท/ลิตร ทำให้ตรึงราคาได้ที่ 29.99 บาท/ลิตร
รัฐบาลเศรษฐา ราคาน้ำมันดิบดูไบ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 84.14 ราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น 23.40 บาท/ลิตร รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาท/ลิตร และเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย 3.58 บาท/ลิตร เป็นการเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยภาษีที่รัฐบาลไม่ยอมลด
จึงทำให้กองทุนเป็นหนี้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และยังปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันคิดค่าการตลาด 2.44 บาท/ลิตร ทั้งที่ค่าการตลาดที่เหมาะสมของดีเซลอยู่ที่1.50 บาท/ลิตร
ถ้ารัฐบาลลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลงไป 4.99 บาท/ลิตร เก็บเหลือแค่ 1 บาท/ลิตร จะลดภาระเอากองทุนน้ำมันมาชดเชย 3.58 บาท/ลิตร
และถ้าลดค่าการตลาดลงไป 80 สต./ลิตร เก็บค่าการตลาดที่ 1.64 บาท/ลิตร รัฐบาลจะสามารถตรึงราคาดีเซลได้ที่ 28-30 บาท/ลิตรเลยทีเดียว
รมว.พลังงานควรนำเสนอครม.ให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตลงตามความจำเป็นเมื่อราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าจะผลักภาระให้ประชาชนต้องแบกรับราคาดีเซลเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบค่าขนส่ง ราคาสินค้า/บริการและส่งผลให้ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น
ในฐานะรัฐมนตรีพลังงานเป็นนักกฎหมาย บทบัญญัติในพ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน 2562 มาตรา 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีเกิดวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
ซึ่งปัจจุบันราคาตลาดโลกยังอยู่ที่ 84-85 เหรียญ ไม่ใช่วิกฤตการณ์ที่รุนแรง โดยราคาในสมัยนี้ยังต่ำกว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 25-35 เหรียญ/บาร์เรล หรือมีราคาต่ำกว่าถึงลิตรละ 5.60 บาท -7.90 บาท สามารถบริหารตรึงราคาที่ไม่เกิน28 บาท/ลิตรด้วยซ้ำไป
รมว.พลังงานจึงไม่สมควรเสนอ ครม. ให้ขยับตรึงราคาดีเซลถึง 33 บาท/ลิตร ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพิ่มช่องว่างอีก 2.06 บาท/ลิตรให้ผู้ค้าน้ำมันทำกำไรเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ และในขณะเดียวกันรัฐบาลยังเดินหน้ารีดเลือดจากผู้ใช้น้ำมันที่ต้องแบกรับภาษีน้ำมันสูงเกินสมควรใช่หรือไม่
การนำเงินกองทุนน้ำมันจำนวนมากไปชดเชยราคาดีเซลที่สูงขึ้นจากภาษีที่รัฐบาลรีดจากประชาชนมากเกินสมควร ตลอดจนปล่อยให้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเอาเปรียบประชาชนผ่านค่าการตลาดให้สามารถดันราคาสูงเพิ่มขึ้น ย่อมไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าทำตามกฎหมาย และกล่าวอ้างเอาเครดิตว่านี่เป็นการช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน ใช่หรือไม่
มีข้อคิดอันเป็นตลกร้ายของนักเขียนชาวจีนว่า “ฉันหักขาคุณข้างหนึ่ง แล้วจึงหยิบยื่นไม้เท้าให้คุณ คุณต้องขอบคุณฉันที่ช่วยทำให้คุณเดินได้”
กระทรวงพลังงานกับรัฐบาลกำลังเล่นบทตลกร้ายนี้อยู่ ใช่หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง