energy

"รสนา" จี้พาณิชย์นิยาม "เผื่อเหลือเผื่อขาด" ลั่นปชช. ต้องได้น้ำมันเต็มลิตร

    "รสนา" จี้พาณิชย์นิยาม "เผื่อเหลือเผื่อขาด" ลั่นปชช. ต้องได้น้ำมันเต็มลิตร ระบุในความหมายที่แท้จริงมีเพียงต้องเผื่อให้เกินเพื่อไม่ให้ขาด ไม่มีหลักการให้ขาดได้ 1% ตามกฎหมายที่อธิบดีกรมการค้าภายในให้สัมภาษณ์

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (รสนา โตสิตระกูล) ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ควรนิยามคำว่าเผื่อเหลือเผื่อขาดให้ชัดเจนว่า ต้องเผื่อปริมาณน้ำมัน ให้ผู้ซื้อได้น้ำมันเต็มลิตร ตามจำนวนซื้อ

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทราบว่ากระทรวง พลังงานจับมือกระทรวง พาณิชย์ออกลุยตรวจหัวจ่ายปั๊มน้ำมันว่าจ่ายน้ำมันเต็มลิตรหรือไม่

ในข่าวระบุเพียงว่า ไม่พบการดัดแปลงหัวจ่าย ทำให้สงสัยว่า แค่ไม่ดัดแปลงหัวจ่ายน้ำมัน แต่ได้น้ำมันเต็มลิตรหรือไม่ ไม่ได้ยืนยันชัดเจน 

ที่สงสัยเพราะก่อนหน้านี้อธิบดีกรมการค้าภายในเคยให้สัมภาษณ์ว่าน้ำมันขาด 1% ไม่ผิดกฎหมาย เพราะจากการทดสอบเครื่องจ่ายน้ำมันอาจมีการคลาดเคลื่อนบวก ลบได้ 1% น่าจะด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ระบุไว้ 

แต่คำว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ในความหมายที่แท้จริงมีเพียง “ต้องเผื่อให้เกินเพื่อไม่ให้ขาด” ไม่มีหลักการให้ขาดได้ 1% ตามกฎหมายที่อธิบดีกรมการค้าภายในให้สัมภาษณ์ แต่อย่างใด

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจึงต้องทำความหมายคำว่า “เผื่อเหลือเผื่อขาด” ให้ชัดเจน ไม่ใช่ดูแค่ว่าปั๊มหัวจ่ายมี หรือไม่มีการดัดแปลง 

ต้องดูว่าแม้ไม่มีการดัดแปลงแล้ว ยังจ่ายน้ำมันได้เต็มลิตรหรือไม่ 

ขอเสนอให้ สาขาในแต่ละจังหวัดของสภาผู้บริโภคควรขอเข้าไปตรวจซ้ำว่าปั๊มน้ำมันแต่ละแบรนด์มีหัวจ่ายที่จ่ายน้ำมันเต็มลิตรหรือไม่

จะช่วยให้ผู้บริโภคที่เติมน้ำมันแต่ละปั๊ม แต่ละแบรนด์มีความมั่นใจว่าจะได้น้ำมันเต็มตามจำนวนเงินที่จ่ายไป