ทั้งนี้การผลักดันการใช้ไฮโดรเจนจะถูกบรรจุไว้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เพื่อนำมาใช้ผสมเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 5 % นับจากปี 2573 เป็นต้นไป และทยอยเพิ่มสัดส่วนเป็น 20 % ภายในปี 2580 ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง มีเป้าหมายการใช้อยู่ที่ราว 4 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ(ktoe)
จากการวิเคาระห์ของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า หากประเทศมีการใช้ไฮโดรเจนจะมีส่วนช่วยประเทศบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 โดยจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 16.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นในส่วนของการผลิตไฟฟ้าราว 8.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภาคขนส่งราว 4.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และภาคอุตสาหกรรม 2.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ชี้ให้เห็นว่า ปตท.ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero และสอดรับกับการดำเนินธุรกิจของปตท.ที่จะเร่งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Portfolio Transformation) เป็นการสร้างโอการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) จากธุรกิจไฮโดนเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การนำเข้าไฮโดรเจนและแอมโมเนียน ป้อนให้กับภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป
ในการขับเคลื่อนไฮโดรเจนที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ได้ศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง ช่วงปี 2566-2567 โดยทดลองเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electrical Vehicle : FCEV) แห่งแรกในไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้าจำนวน 2 คัน มาทดสอบการใช้งานในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการพัฒนาสถานีเชื้อเพลิงโฮโดรเจน รองรับรถบรรทุกขนส่งและหัวรถลากต่อไปในอนาคต
รวมทั้งได้การลงนามความร่วมมือระหว่าง ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ACWA Power ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อศึกษาผลักดันการพัฒนาธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย
ขณะเดียวกันบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ยังได้จับมือกับพันธมิตร ชนะประมูลพัฒนากรีนไฮโดรเจน ที่ประเทศโอมาน กำลังผลิต 2.2 แสนตันต่อปี คาดจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2573 ซึ่งจะเป็นการนำความรู้มาต่อยอดปรับใช้ในประเทศไทยได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาไฮโดรเจนยังมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง หากต้องการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือปกขาวเสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนด้านใดบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย
นายบูรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่ง เยอรมนีถือเป็นต้นแบบที่มีการดำนินงานมาหลายปี เพื่อเป็นการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 65% ภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างน้อย 88% ภายในปี ค.ศ. 2040 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2045
ปัจจุบันมีการนำไฮโดรเจนมาใช้ในภาคการขนส่งเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายแล้ว โดยบริษัท H2 Mobility มีการติดตั้งหัวจ่ายไฮโดรเจนภายในสถานีบริการนํ้ามันระหว่างเมืองทั่วประเทศในปี 2564 มากกว่า 91 แห่ง เบื้องต้นพบว่าไฮโดรเจนไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีเพียงรถบางรุ่นของโตโยต้าและฮุนไดที่มาใช้บริการ ขณะที่ราคาจำหน่ายไฮโดรเจนได้รับการอุดหนุนบางส่วน แต่ก็ยังมีราคาที่สูงเมื่อเปรียบเทียบราคานํ้ามัน โดยราคาอยู่ที่ราว 15.75 ยูโรต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 620 บาทต่อกิโลกรัม
ดังนั้น การใช้ไฮโดรเจนจึงเหมาะสำหรับรถบรรทุก และรถหัวลาก มากกว่ารถยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำไฮโดรเจนมาใช้กับรถดังกล่าว เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยไฮโดรเจนที่นำมาใช้ จะเป็นกรีนไฮโดรเจน ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์) มาแยกไฮโดรเจนออกจากนํ้า และส่งเข้าสถานีเติมไฮโดรเจนที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน
โดยกำลังจะพิจารณาว่า พลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ผลิตไฮโดรเจนจะเป็นขนาดกี่เมกะวัตต์ เพื่อให้สามารถครอบคลุมป้อนการขนส่งรถบรรทุกหรือรถหัวลากไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง หรือ FCEV จำนวน 30 คัน ในรัศมีการทดสอบระยะทาง 400 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2567 นี้ หลังจะนั้นจะเริ่มลงทุนต่อไป เพื่อเป็นต้นแบบกระบวนการจัดหา การกำกับ การใช้ และทดสอบ ขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ
ดังนั้น การใช้ไฮโดรเจนในภาคขนส่ง จะเป็นแนวทางหนึ่งช่วยสนับสนุนประเทศก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป เป็นการส่งเสริมการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ของปตท.อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง