“จตุพร” ย้ำแก้โลกร้อน ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ดันคลอดกฎหมายโลกร้อน

25 มี.ค. 2567 | 12:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2567 | 14:27 น.

ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ย้ำลดโลกร้อนต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน แนะฝ่ายรัฐ-ค้าน ผลักดันร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชน

วันที่ 25 มีนาคม 2567  “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดตัวสำนักข่าว Climate Center  พร้อมเซ็น MOU กับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ 

การเซ็น MOU ครั้งนี้  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คุณฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  
 

ในโอกาสนี้  นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนกับการรับมือโลกร้อน" โดยกล่าวว่า  

“วันนี้สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจกับประชาชน เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน  ดินฟ้าอากาศทุกคนต้องประสบปัญหาด้วยกันทั้งหมด” 

นายจตุพร ระบุว่า ก่อนเกิดวิกฤตโควิด ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งผลจากโควิดกระทบกับเศรษฐกิจ และเรื่องคลื่นโลกที่สามที่กำลังจะมา  ขณะที่ปัญหาโลกร้อนจะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อโลก  เช่น ดอกไม้ที่เกิดขึ้นในแอนตาร์กติก  ไฟป่าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ

“คนยังไม่เข้าใจว่าไฟป่าเกิดจากคนหรือเพราะโลกร้อน จากนี้ไปอีก 10 ปี สีเขียวที่เราเห็น คนจะพูดถึงเรื่องข้อมูลที่เสี่ยง อากาศที่ร้อนสุดขั้ว การสูญเสียความหลากหลาย คือ ปัญหาที่จะตามมา”  

“จตุพร” ย้ำแก้โลกร้อน ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน  ดันคลอดกฎหมายโลกร้อน

สำหรับประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มากแต่ก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเรามีเวลาอีก  6  ปี ในการรับมือ  ที่ผ่านมามีการพูดคุยและเข้าสู่กระบวนการเยอะมาก แต่ไม่มีการบรรลุข้อตกลง  กระทั่งการประชุม COP 26 ที่ปารีส และล่าสุดการประชุม COP 28  ที่ดูไบ มีบรรลุข้อตกลงว่าต้องทำอย่างไรในการควบคุณอุณหภูมิและเริ่มมีการทบทวนว่าจริงหรือไม่  รวมทั้งมีความพยายามลดพลังงานฟอสซิล 40 % ในปี 2030 แต่การประชุมดังกล่าวพบว่ายังไม่พอ ถ้าลด 40 % อุณหภูมิของโลกต้องเกินอยู่ดี  จึงต้องการให้ลดลงอีก 3 % 

มีเรื่องหนึ่งที่คล้ายกับ “ไคลเมทเซ็นเตอร์” คือ ไคลเมทคลับ เป็นการรวมตัวของประเทศเพื่อสร้างพลัง โดยจะมีงบประมาณช่วยประเทศที่ต้องการ เช่น ประเทศไทย เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากครม. ให้ไปร่วมเป็นสมาชิก ไคลเมทคลับ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาการช่วยเหลือ

สำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไทยเป็นอันดับที่ 9 ปล่อยไม่เกิน 1%   แต่ถ้าเกิดอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะเกิดปัญหาเรื่องโลกร้อน เพราะไทยจะเจอปัญหาน้ำทะเลที่สูงขึ้นกระทบแน่นอน 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแผนไปสู่เป้าหมาย โดยต้องการนำแผนนี้ไปให้ทุกภาคส่วนปฎิบัติ ซึ่งมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน แต่ทุกเซกเตอร์ต้องมีเป้าหมายในการลด  และยังมีอีกเซกเตอร์ คือ การปลูกป่า  และเราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว เข้าไปเพื่อให้เกิดความสมดุล  ในประเทศไทยปลูกป่า 30 %  เราทำได้ 

ปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องทำคือ เราจะเน้นทำตรงไหน ซึ่งอาจจะกระทบเรื่องการลงทุน และมีการเจรจาอยู่ มีการพูดกับแบงก์ชาติ เรื่องการทำกรีนฟันด์ ให้แบงก์ปล่อยเงินลงมา  เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน 

“จตุพร” ย้ำแก้โลกร้อน ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน  ดันคลอดกฎหมายโลกร้อน

อีกเรื่องที่สำคัญคือ เรื่องกฎหมาย  ขณะนี้เราทำเป็นเพียงภาคสมัครใจ บริษัทหลักๆไปแล้วเร็วกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่จะทำ  เช่น ปตท. SCG    แต่ SME มีเยอะมาก เรากำลังออก ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น  โดยวันที่ 26 มีนาคม นี้ จะรับฟังความเห็นที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท  ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายมีเยอะมาก  

แต่ที่ยากมาก คือการบังคับใช้กฎหมายจะทำอย่างไร  ต้องค่อยๆพูดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายดีขนาดไหนแต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ซึ่งต้องพูดกับประชาชนเรื่องภาษีคาร์บอน ต่อไปบริษัทต่างๆ ต้องรายงาน  แต่ถ้าตรวจพบเจอมีปัญหา ซึ่งกฎหมายจะผ่านหรือไม่ ต้องรอดูเพราะกระทบคนเยอะมาก อย่างไรก็ตามกฎหมายมีดีกว่าไม่มี เพราะต่อไปเราต้องเจอกำแพงภาษี ที่กระทบการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก เรื่องกฎหมายอยู่ระหว่างฟังความเห็น ถ้าเป็นไปได้ ปีนี้จะผลักดันให้ให้เสร็จก่อนประชุม COP 29

สิ่งหนึ่งที่กระทรวงทรัพย์ฯ พยายามผลักดัน คือ หลังตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อม และมีการหารือกับรัฐมนตรีหลายประเทศในช่วงไปประชุม อย่าง สปป.ลาว มีกรมโลกร้อน แต่ไทยเป็นสำนักหนึ่งในสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม  มีหน้าที่ทุกอย่าง ขณะออสเตรเลีย เป็นกระทรวง ในอาเซียนมีทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย จึงปฏิรูประบบราชการ โดยเอากรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมาปรับจนกลายเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อม   และตั้งหน่วยงานต่างๆขึ้นมา

สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีไคลเมทเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพราะคนไม่รู้ไคลเมทเซ็นเตอร์คืออะไร  ถ้าเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ต้องไม่มีวาระทางการเมือง ไม่มีแบ่งแยกเรื่องของฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ต้องประสบปัญหาร่วมกันทุกคน  กรณี ฝุ่น PM  2.5 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งโลก  เพียงแต่จะปรับตัวได้เร็วแค่ไหน  เราจึงตั้งศูนย์เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด จะเป็นประโยชน์

สำหรับไคลเมทเซ็นเตอร์ที่มาเปิดวันนี้ โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงไปฝึกระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ. ศูนย์ฯระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด  ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีบริบทที่ต่างกัน 

ยกตัวอย่าง จังหวัดสระบุรี  และระยอง ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มีโรงงานอุตสาหกรรม แต่ที่จังหวัดที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเลย คือ แม่ฮ่องสอน เพราะมีป่าเยอะ   แต่คุณภาพชีวิตแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน เคยให้แม่ฮ่องสอนจับคู่สระบุรี  ให้เกิดการบาลานซ์กัน  ทั้งนี้เพื่อให้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งสื่อสารมาก ประชาชนรับรู้มาก ก็การช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น เช่น เรื่องหมอกควันไฟป่า พอเกิดคนก็ด่า ทั้งที่ไฟป่าเกิดจากคนจุดล้านเปอร์เซ็นต์  จะให้ไปจับคนจุดไฟก็ไม่ได้  

เพราะฉะนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" จับมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อม  และร่วมกับทุกภาคส่วนสำคัญ  จะเห็นได้ว่าหลายอำเภอมีการจัดการขยะเปียกได้ดีมาก จะมีการเอากรณีศึกษานี้ไปแสดงให้เห็นว่า ไทยมีหลายหน่วยงานที่แก้ไขแล้วทำได้จริง  ถ้าดีพอจะนำไปพูดใน COP 29 ว่าไทยเราทำได้ และทำมาตลอด ตอนนี้เรามีกระบอกเสียงที่จะไปสื่อสารกับประชาชนได้รับรู้และสามารถโต้ตอบได้ และอาจมีการสัญจรไปต่างจังหวัด ให้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน  เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในระดับจังหวัด 

“การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่สามารถแก้ได้ทันที ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ต้องปรับทัศนคติให้ทุกคนต้องเข้าใจในการร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกัน กลไกสำคัญคือการสื่อสารทำความเข้าใจประชาชน ต้องเห็นใจ สุดท้ายปัญหาเกิดตั้งแต่พื้นฐานทั้งหมด  ทุกคนจะกระทบ และอยู่รอบตัวเรา”