นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ คนที่ 16 เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องของค่าไฟว่า ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาปรับรูปแบบการคำนวณค่าไฟของประเทศให้ต่ำและนิ่งกว่านี้ จากปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) จะคำนวณตามต้นทุนเชื้อเพลิงทุก 4 เดือน ทำให้ค่าไฟขึ้นลงผันผวน กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน
การคำนวณต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งปกติเอกชนจะใช้ต้นทุนที่สูงที่สุดของปีและเมื่อค่าไฟถูกลงก็ไม่ได้ลดราคาสินค้าลง ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรกำหนดค่าไฟให้ต่ำและนิ่ง
โดยอาจคำนวณทุก 1 ปี เพื่อให้ทุกภาคส่วนรับรู้ต้นทุนระยะยาว เพราะราคาพลังงานขึ้นลงเป็นปกติ สามารถหักลบกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้งประเทศแน่นอน
ทั้งนี้ ปัจจุบันกฟผ.รับภาระค่าไฟแทนประชาชนอยู่ที่ 99,689 ล้านบาท โดยคาดว่าค่าไฟงวดใหม่ เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 ที่อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากประชาชนจะสรุปตัวเลขที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
ซึ่งกฟผ.จะได้เงินคืน 7 งวดงวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย โดยคาดหวังอัตราค่าไฟหลังจากนี้ กฟผ.จะได้เงินคืนรูปแบบนี้ทั้ง 7 งวดเพื่อบริหารสภาพคล่องกฟผ.
สำหรับปี 2567 กฟผ.ตั้งงบลงทุนไว้ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท เน้นลงทุนปรับปรุงระบบสายส่ง และโซลาร์ลอยน้ำ และปัจจุบันกฟผ.มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าประมาณ 30% ของการผลิตทั้งประเทศ
ส่วนข้อเสนอ NET METERING หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริง จากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้านั้น ในมุมของกฟผ.มองว่ายังไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับไทยเวลานี้
เพราะจะเป็นภาระกับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์แต่กลุ่มดังกล่าวนี้ต้องรับภาระการลงทุนระบบไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากสุดท้ายหากผู้ใช้ NET METERING เกิดปัญหาก็ต้องกลับมาใช้ไฟจากระบบสายส่งหลัก แต่ไม่ต้องรับภาระส่วนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง