กสิกรไทยอัดฉีด 2 แสนล้าน หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

20 มี.ค. 2567 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2567 | 14:27 น.

กสิกรไทยปักธง 4 กลยุทธ์ สร้างความยั่งยืน วางเป้าพอร์ตสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมปีนี้ 1 แสนล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสู่ยอด 2 แสนล้าน ภายในปี 2573 ฝากรัฐเร่งคลอดกฎหมาย สร้างการแข่งขันด้านสิ่งแวดล้อมได้ทั่วโลก

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หากโลกไม่มีการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม ในปี 2573 จะเกิดความเสียหายกว่า 18% ของจีดีพีโลก ส่วนประเทศไทยจะได้รับความเสียหายกว่า 44% ของจีดีพีประเทศไทย โดยสัดส่วนที่เสียหายไปสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิดที่จีดีพีหายไปเพียง 3% ทั้งนี้ หากประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ อเมริกา ยุโรป และจีน ทยอยบังคับใช้กฎระเบียบทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ถ้าไทยปรับตัวไม่ทัน จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกไทยประมาณ 40-45%

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจในการปรับตัวรับมือ เพราะจากจำนวนผู้ประกอบการที่ส่งออกมีอยู่ประมาณ 70,000 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารกสิกรไทย ปี 2567 ด้วยเป้าหมายสำคัญที่จะพาธุรกิจไทยและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ สามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคว้าโอกาสไว้ได้ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายพิพิธ กล่าวว่า ธนาคารดำเนินการผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

กลยุทธ์ที่ 1 Green Operation ธนาคารปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานของตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1-2) เป็น Net Zero ด้วยมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ธนาคารเริ่มมีการพัฒนาระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้น ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ลดได้ 12.74% เมื่อเทียบปีฐาน (2563) มีการจัดการด้านคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลางทางคาร์บอนมาแล้ว 6 ปีต่อเนื่อง (2561-2566) และตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ใน Scope 1 & 2 ภายในปี 2573

กสิกรไทยอัดฉีด 2 แสนล้าน  หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

กลยุทธ์ที่ 2 Green Finance ธนาคารนำความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและเงินลงทุน สนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร โดยธนาคารส่งมอบเม็ดเงินสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปในปี 2565- 2566 แล้วกว่า 73,397 ล้านบาท และคาดว่าจะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ วางเป้าหมายว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเป็น 200,000 ล้านบาทได้ ภายในปี 2573

“การปล่อยสินเชื่อ 73,397 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 70-80% เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ (Corporate) โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะมีการดึงซัพพลายเชน และเอสเอ็มอีเข้ามาหากกฎหมายทางการค้ามีความชัดเจน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ช่วยทำให้การปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น และการวางเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในปี 2573 จำนวน 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคารที่มีอยู่ 2.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าจำนวนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมจะมียอดสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้” 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมของธนาคารนั้น ส่วนใหญ่จะให้แรงจูงใจด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ได้แก่

  1. การให้สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และการให้สินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance)
  2. การจัดสรรเงินลงทุนของธนาคารในธุรกิจและสตาร์ตอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก
  3. การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งของธนาคารและพันธมิตรระดับโลกเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG)

นอกจากนี้ ได้วางจุดชี้วัดหลัก (KPI) ประการหนึ่ง คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio Emission) ของอุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญในการควบคุมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้วางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) ไปแล้ว 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติต้นนํ้า กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม 

“หลังจากวางตัวชี้วัด เราพบความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ พอร์ตโฟลิโออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว จำนวน 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารมีระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Intensity per GWh) ในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีฐาน (2563) ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่วางไว้” 

กสิกรไทยอัดฉีด 2 แสนล้าน  หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

กลยุทธ์ที่ 3 Climate Solutions โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร โดยการพัฒนาโซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้าทั้งบุคคลและผู้ประกอบการ (Reduction Solution) โดยทดลองออกบริการนำร่องแล้ว ได้แก่ 

 “WATT’S UP” เป็นแพลต์ฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร รวมถึงบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน 367 ราย โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีรุ่นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 10 รุ่น ขยายตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “ปันไฟ” (Punfai) เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกสิกรไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ 

กลยุทธ์ที่ 4 Carbon Ecosystem ธนาคารเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อใน Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตสำหรับการชดเชยทางคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารได้เริ่มประกาศนโยบายการเป็น Net Zero ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่ในส่วนของภาครัฐนั้น อยากให้นโยบายมีความชัดเจน รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันตอนนี้ยังรอความชัดเจนทางด้านกฎหมายบังคับใช้จากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งฝากให้ภาครัฐออกกฎหมายโดยเร็ว และให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้