"มูลนิธิพลังงานสะอาด" แจง 6 ข้อ หลังถูกพาดพิงตัดคะแนนเสียงชิงประธานส.อ.ท.

19 มี.ค. 2567 | 07:39 น.

"มูลนิธิพลังงานสะอาด" แจง 6 ข้อ หลังถูกพาดพิงตัดคะแนนเสียงชิงประธานส.อ.ท. ชี้เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม มีวาระซ่อนเร้นให้กลุ่มพลังงานหมุนเวียนกับผู้ถูกพาดพิงเสียหายก่อนการเลือกตั้ง

จากกกรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข่าว “มูลนิธิพลังงานสะอาด” อ้างชื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ของบประมาณหน่วยงานรัฐทำวิจัย พร้อมโยงว่าอาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่? 

ซึ่งในเนื้อหาได้มีการกล่าวถึงชื่อของผู้ชิงตำแหน่งอย่าง นายสมโภน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือเออี (EA) มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกัน จนอาจเกิดความสับสนแก่สังคม หรือเรียกว่าเป็นการสาดโคลนเพื่อหวังดิสเครดิตก่อนการเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้ 

โดยก่อนหน้านี้ ประธานส.อ.ท. คนปัจจุบัน ที่มีชื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แจ้งที่ประชุมในวาระ “3.1 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” พร้อมกับนำเสนอเอกสารบนจอห้องประชุมพาดพิงถึงกลุ่มอุสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน / มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ทำนองที่จงใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมและสมาชิก ส.อ.ท. เข้าใจได้ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย มีการทุจริต 
 

ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ออกหนังสือเปิดผนึกชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม มีวาระซ่อนเร้นให้กลุ่มพลังงานหมุนเวียน กับผู้ถูกพาดพิงเสียหายก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริง 6 ข้อ ประกอบด้วย  

  • กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตามมติของกลุ่ม พลังงานหมุนเวียน ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ส.อ.ท.
  • การตั้งมูลนิธิฯ และสมาคม RE100 ได้กระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ 
  • กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นแกนนำในการผลักดัน ให้จัดตั้งสถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของ ส.อ.ท. เมื่อ 22 ธ.ค.2564 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบัน CCI เมื่อ 31 พ.ค.2565 เพื่อการสร้างตลาด ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบ Digital Trading Platform 
  • บริษัท บล็อกฟินท์ จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่ใช้บริหารจัดการระบบ GIDEON มาให้ส.อ.ท. ได้ใช้ โดยไม่มีค่า License Fee โดยบล็อกฟินท์ฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ส่วน ส.อ.ท. เป็นเจ้าของ FTIX ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้า แต่ ส.อ.ท. ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการตลาดซื้อขาย
     
  • โดยสถาบัน CCI ได้ขอให้บล็อกฟินท์ฯ พัฒนาซอฟท์แวร์หลายรายการ แต่ ส.อ.ท. ไม่มีงบประมาณ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ช่วยเป็นแกนในการขอทุนจาก บพข. จึงระบุ ข้อมูลตามความเป็นจริงว่า โครงการนี้ทำเพื่อให้ ส.อ.ท. ใช้งาน ไม่ใช่เป็นการแอบอ้างชื่อของ ส.อ.ท. ในการขอรับทุน นอกจากนั้นเงื่อนไขยังระบุให้ผู้ขอรับทุนต้องลงเงินทุนเองในสัดส่วน 40:60 ด้วย ซึ่งหลังจากมีเรื่องนี้ บพข. ได้ตอบเป็นหนังสือ ที่ อว 6203/559 ลงวันที่ 27 ก.พ. 2567 3/4 มาที่มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ยืนยันว่า บพข. ไม่มีปัญหากับการขอรับทุนดังกล่าวและมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนงานของมูลนิธิ 
  • กลุ่มพลังงานหมุนเวียน มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และประเทศชาติโดยรวม จึงไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลให้การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนต้องล่าช้า เสียโอกาส เสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดการค้าโลก

ทั้งนี้ การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ของธุรกิจที่อยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีมากกว่า 40 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 46 กลุ่มมีการดำเนินการร่วมมือกับมูลนิธิหรือสมาคมต่างๆมากกว่า 43 แห่งตามรายละเอียดดังนี้

"มูลนิธิพลังงานสะอาด" แจง 6 ข้อ หลังถูกพาดพิงตัดคะแนนเสียงชิงประธานส.อ.ท.

สำหรับในกรณีมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนซึ่งเป็นประเด็นในขณะนี้ ได้มีการร่วมงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วยดีมาโดยตลอดเป็นเวลามากกว่า 5 ปี อีกทั้งตัวประธานสภาอุตสาหกรรมเองก็ไปร่วมงานและบางงานก็เป็นประธานในงานที่ร่วมมือกันอีกด้วย แต่เหตุใดครั้งนี้จึงกลับกลายเป็นประเด็นถกเถียง จึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกลายเป็นการแข่งขันเพื่อการเอาชนะในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมในสมัยต่อไปเท่านั้น