ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าดังกล่าวน่าจะลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนได้ และถ้าทุกคนช่วยกันใช้พลังงานอย่างประหยัดก็จะลดค่าใช้จ่ายพลังงานได้อีก ส่งผลดีกับประเทศที่จะลดการนำเข้าพลังงาน เพราะไทยเพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นหลักปีละหลายแสนล้านบาท ถ้าโชคดีราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในตลาดโลกลดลง ก็จะได้ใช้ไฟฟ้าราคาที่ถูกลง
ปัจจุบันค่าไฟของประเทศไทยลดลงอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ซึ่งมีความมั่นคงด้านพลังงาน จากการผสมผสานเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศกับ LNG ที่นำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากถึง 53% รองลงมาเป็นถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน และพลังนํ้าจาก สปป.ลาว ซี่งทำให้ผลิตไฟฟ้ามีปริมาณสำรองที่เพียงพอกับความต้องการ
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ได้เปรียบเทียบอัตราค่าไฟฟ้าในกลุ่มอาเซียน ให้เห็นว่า ประเทศที่มีค่าไฟสูงที่สุด ประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟ 300 หน่วยขึ้นไปต่อเดือนมี 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์มีค่าไฟสูงที่สุดเฉลี่ย 8.01 บาทต่อหน่วย ที่มีปัจจัยจากการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ทำให้มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูง ส่งผลต่อค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ฟิลิปปินส์ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.10 บาทต่อหน่วย ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้า ร่วมกับนํ้ามันและเชื้อเพลิง อื่น ๆ ส่วนประเทศกัมพูชาค่าไฟอยู่ที่ 5.45 บาทต่อหน่วย ใช้นํ้าที่มีอยู่ในประเทศผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงอื่น ๆ
ส่วนประเทศที่มีค่าไฟตํ่ากว่าประเทศไทย ประเภทบ้านอยู่อาศัย มี 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.21 บาทต่อหน่วย ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศมาผลิตไฟฟ้าเป็นหลักเลยทำให้ค่าไฟมีราคาถูก รวมถึงเวียดนามมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.57 บาทต่อหน่วย แม้ราคาจะถูกกว่าประเทศไทยแต่ระบบไฟฟ้ายังไม่เสถียรภาพ
ขณะที่มาเลเซียค่าไฟอยู่ที่ 1.80 บาทต่อหน่วย ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศ รวมถึงนํ้าและก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า รวมถึงมีนโยบายสนับสนุนค่าไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงทำให้ค่าไฟถูกกว่าไทย ส่วนเมียนมาอยู่ที่ 1.70 บาทต่อหน่วย ใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ส่วนสปป.ลาวมีค่าไฟอยู่ที่ 1.10 บาทต่อหน่วย ใช้นํ้าจากเขื่อนในประเทศผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก และประเทศบรูไนค่าไฟถูกที่สุดในอาเซียน 0.27 บาทต่อหน่วย ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติทั้งหมด
สำหรับอัตราค่าไฟประเภทอุตสาหกรรมขนาดกลาง ไทยมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.57 บาทต่อหน่วย มีประเทศที่มีค่าไฟที่สูงกว่าอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ 6.23 บาทต่อหน่วย ฟิลิปปินส์ 5.30 บาทต่อหน่วย กัมพูชา 4.97 บาทต่อหน่วย เวียดนาม 4.04 บาทต่อหน่วย และมาเลเซีย 3.73 บาทต่อหน่วย
ส่วนประเทศที่มีค่าไฟถูกกว่าไทยมี 4 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย 3.16 บาทต่อหน่วย เมียนมา 2.86 บาทต่อหน่วย สปป.ลาว 2.29 บาทต่อหน่วย และบรูไน 1.48 บาทต่อหน่วย จากข้อมูลจะเห็นว่าแต่ละประเทศมีราคาค่าไฟราคาถูกหรือแพงแตกต่างกันออกไป ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวแปร รวมถึงเชื้อเพลิงที่มีการเลือกใช้ด้วย แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งพลังงาน “ราคาถูก” ไม่ได้สำคัญเท่ากับ “คุณภาพ” ที่จะตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ
ยกตัวอย่างค่าไฟของประเทศเวียดนามที่หลายฝ่าย มักจะนำมาเทียบกับไทยตลอดเวลา โดยค่าไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยของเวียดนามอยู่ที่ 3.57 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าค่าไฟของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ระบบไฟฟ้าของเวียดนามไม่มีความเสถียร มักเกิดปัญหาไฟตก ไฟดับ อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงหน้าร้อนเวียดนามมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟดับได้ตลอดเวลา เพราะโรงไฟฟ้าพลังนํ้าขาดแคลนนํ้าไปผลิตไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีปัญหา เดือนมิถุนายน 2566 ได้เกิดไฟดับในพื้นที่กรุงฮานอย ในหลายพื้นที่ กินะยะเวลาหลายชั่วโมง
ส่วนพื้นที่ห่างไกลออกไปอย่างเช่นที่อำเภอ Chuong My หมู่บ้าน Nghia Hao ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ก็เผชิญกับไฟฟ้าดับทุกวัน ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นช่วงเวลา 10.00 น. ถึง 19.00 น.
เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในเวียดนามได้ขยายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงทางภาคเหนือได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นลักษณะการเวียนดับไฟในพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่ได้ประกาศแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ที่อำเภอ Ha Dong ดูจะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด มีเหตุการณ์ดับไฟเกิดขึ้นทุกวัน และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยช่วงที่มักเกิดไฟดับจะเป็นเวลา 8.00 น. ถึง 12.00 น. และ 13.30 น. ถึง 17.00 น. ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก
สาเหตุที่ทำให้ไฟดับในประเทศเวียดนามมีหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า และมีการหยุดผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้า จำนวน 11 แห่ง จากภาวะนํ้าแห้งแล้ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในเวียดนามได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
เหตุการณ์ดังกล่าว จึงเป็นบทเรียนภาคพลังงานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “คุณภาพ” พลังงานสำคัญ และจำเป็นกว่าพลังงานที่มี “ราคาถูก” นั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง