ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้ทำการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น (Hydro-floating Solar Hybrid)
หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์แล้ว ที่กฟผ. เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
สำหรับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์นั้น มีจุดเด่นคือ การผสาน 3 พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน และผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำของเขื่อนที่มีอยู่เดิมในช่วงเวลากลางคืน
รวมถึงติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ซึ่งช่วยเสริมให้ระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทั้งสองชนิดสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) และระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น
โดยแผงโซลาร์เซลล์ใช้พื้นที่ผิวน้ำไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีความลาดเอียงเพื่อให้แสงแดดสามารถลอดผ่านลงถึงผิวน้ำได้ จึงไม่กระทบกับระบบนิเวศใต้น้ำ แผงโซลาร์เซลล์และทุ่นลอยน้ำยังเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ดร.จิราพร กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนอุบลรัตน์ถือเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดแห่งที่ 2 ของ กฟผ. ซึ่งดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) โดยมีแผนพัฒนาในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. 9 แห่ง รวม 16 โครงการ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดภาวะโลกร้อน สอดรับกับเทรนด์พลังงานโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง โดยร่วมกับศูนย์วิจัยประมงน้ำจืด ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาประชามีสุข ปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์สัตว์น้ำลงในอ่างเก็บน้ำปีละหลายล้านตัว รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการแปรรูปปลา และในอนาคตมีแผนพัฒนาโรงเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ช่วยสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง