zero-carbon

"TCMA" ดัน "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" สู่เมืองคาร์บอนต่ำด้านการจัดการของเสีย

    "TCMA" ดัน "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" สู่เมืองคาร์บอนต่ำด้านการจัดการของเสีย เดินหน้านำร่อง 10 ต้นแบบธนาคารขยะ สร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติของธนาคารขยะต้นแบบต่อยอดขยายผลต่อไป

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า สระบุรีได้ดำเนินการร่วมกับ 18 หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” 

โดยจะนำร่อง 10 ต้นแบบธนาคารขยะ สร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติของธนาคารขยะต้นแบบต่อยอดขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารขยะจะทำหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้จัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ภายใต้หลักการ 3R คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Re-use) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) 
 

รวมทั้งรณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกันลดปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ และคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่นำไปขายสร้างรายได้เข้าชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

"TCMA" ดัน "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" สู่เมืองคาร์บอนต่ำด้านการจัดการของเสีย

“กลไกสําคัญหลักมาจากภาคเอกชน ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้ทุกอย่างสามารถดําเนินการต่อไปได้ โดยต้องการให้โมเดลดังกล่าวนี้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” 

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า การขับเคลื่อน PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงาน
ในเชิงพื้นที่ (Area Base) ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงาน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำ รวมถึงด้านอุตสาหกรรมสีเขียว ด้านการจัดการของเสีย ด้านการเกษตรคาร์บอนต่ำ และด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 
 

ความร่วมมือ PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value เป็นแนวทางที่ TCMA ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนงานการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่เน้นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 

ด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอีกวิธีการกำจัดของเสียแบบยั่งยืน ที่มีความปลอดภัย และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เป็นการจัดการขยะที่ผ่านการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง นำมาเพิ่มมูลค่าใหม่ในรูปของผลิตภัณฑ์ หรือของใช้  ยกตัวอย่าง เช่น ฟางข้าว แกลบขี้เลื่อย ตอซังข้าวโพด สามารถนํามาใช้เป็นพลังงานได้หมด เรียกว่า Waste to Wealth หากมองในแง่บวก ของรอบๆ ตัวก็มีคุณค่าและสามารถแปรเป็นมูลค่าได้ เรียกว่า  Turning Waste to Value ทั้งช่วยลดปัญหาขยะ และยังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า การจัดการวัสดุไม่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการคัดแยกขยะต้นทาง 100% การบริหารจัดการขยะ การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Cluster) การพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปของเสีย และการนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ จะช่วยขับเคลื่อนสระบุรีไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593