energy

"ธีระชัย"ร่อนจดหมายเปิดผนึก"พีระพันธุ์"ทวงก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยให้ปชช.

    "ธีระชัย"ร่อนจดหมายเปิดผนึก"พีระพันธุ์"ทวงก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยให้ปชช. ระบุปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล) โดยมีข้อความเกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกถึงพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแบบด่วนที่สุด ซึ่งมีต้นฉบับส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ว่า 

ขอให้พิจารณาจัดสรรก๊าซธรรมชาติผลิตจากอ่าวไทยให้เป็นธรรมแก่ประชาชน และให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อ้างถึงหนังสือนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลถึงนายกรัฐมนตรี สำเนาเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 และฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2561

ตามที่รัฐบาลได้จัดให้มีการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 และ G2/61 ในระบบแบ่งปันผลผลิต นั้น

ตนมีความเห็นว่า มีผลทำให้ปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 และ 1305 จึงขอเรียนข้อมูลมาดังนี้

"ธีระชัย"ร่อนจดหมายเปิดผนึก"พีระพันธุ์"ทวงก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยให้ปชช.

1.ปิโตรเลียมจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 

ในระบบสัมปทานนั้น พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 56 บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ จึงไม่มีประเด็นว่าปิโตรเลียมที่ผลิตมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่

แต่ในระบบแบ่งปันผลผลิตตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 หมวด 3/1 สัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น ผลผลิตปิโตรเลียมที่รัฐได้รับเป็นส่วนแบ่งย่อมมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินชัดเจน 

สำหรับผลผลิตปิโตรเลียมที่เป็นส่วนแบ่งของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตนั้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2561 ข้อ 6 การจัดการผลผลิตน้ำมันดิบ และ ข้อ 7 การจัดการผลผลิตก๊าซธรรมชาติ

ตนมีความเห็นว่า วิธีปฏิบัติที่ระบุไว้ ทำให้ผลผลิตปิโตรเลียมที่เป็นส่วนแบ่งของผู้รับสัญญาฯ มีสถานะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 ด้วย

ดังนั้น จึงมีความเห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้บริหารจัดการผลผลิตปิโตรเลียมจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้งหมด ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305

2.การจัดลำดับสิทธิการใช้ประโยชน์ผลผลิตปิโตรเลียมจากอ่าวไทย

ตนขอเรียนว่า ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยนั้น มีราคาต่ำกว่าก๊าซธรรมชาตินำเข้า และเมื่อนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยไปแยกเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG) ก็จะมีราคาต่ำกว่าก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างมาก 

แต่รัฐบาลมิได้ให้ประโยชน์ในก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยแก่ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม จำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน

ในขณะนี้ประชาชนชาวไทยกำลังเดือดร้อนอย่างหนักเรื่องค่าครองชีพราคาพลังงาน จากการที่รัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ได้กำหนดราคาขายก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ภาคครัวเรือน โดยอ้างอิงราคาสมมุติว่านำเข้าก๊าซหุงต้ม (LPG) จากประเทศซาอุดีอาระเบีย บวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า 

ทั้งที่ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่ส่งเข้าไปยังโรงแยกก๊าซในไทย สามารถผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้มากถึงปีละประมาณ 2.9 ล้านตัน ซึ่งเกินพอปริมาณที่ครัวเรือนใช้ประมาณปีละ 2 ล้านตันอยู่แล้ว 

จึงไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะไปกำหนดให้ประชาชนต้องเดือดร้อนโดยนำเอาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นำเข้าที่แพงกว่ามาก เข้ามาเกี่ยวข้องในการกำหนดราคาแก่ประชาชน 
แต่รัฐบาลควรเปลี่ยนแปลงการจัดลำดับสิทธิการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติผลิตจากอ่าวไทยให้ประชาชนรายย่อยก่อนผู้อื่น ในฐานะปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 บัญญัติไว้

ดังนั้น จึงมีความเห็นว่า ท่านควรเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ทำการแก้ไขการจัดลำดับสิทธิการใช้ก๊าซจากอ่าวไทยใหม่โดยพลัน และสั่งการต่อองค์กรก๊าซแห่งชาติที่จะจัดตั้งขึ้น ดังนี้ 

ลำดับที่หนึ่ง ให้จัดสรรก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ผลิตในโรงแยกก๊าซในไทย ให้แก่ครัวเรือนเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยคิดต้นทุนตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทย ไม่เกี่ยวข้องกับก๊าซหุงต้ม (LPG) นำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย 

ซึ่งจะช่วยลดราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ลงทันที และจะช่วยแก้ปัญหาที่รัฐบาลต้องชดเชยเงินเป็นประจำทุกวันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) อีกด้วย

ลำดับที่สอง ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติที่เหลือ และก๊าซสำเร็จรูปที่เกิดจากการแยกที่เหลือ ให้เป็นสิทธิของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยคิดต้นทุนตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทย ไม่เกี่ยวข้องกับก๊าซหุงต้ม (LPG) นำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย 

เพื่อจะลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เพราะประชาชนเป็นเจ้าของ กฟผ. เต็มร้อยเปอร์เซนต์

ลำดับที่สาม ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติที่เหลือจากผู้ใช้ลำดับที่ 1 และลำดับที่ 2 แก่ภาคปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าเอกชนต่อไป 

ตนเห็นว่าข้อเสนอนี้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 (2) มาตรา 52 มาตรา 57 มาตรา 58 ประกอบมาตรา 278 และมาตรา 72 (5)

3. สิทธิในการเข้าไปร่วมถือหุ้นในสัญญาแบ่งปันผลผลิต

ในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอการประมูลยื่นขอสิทธิสำรงจและผลิตปิโตรเลียม แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 และ G2/61 ข้อ 4.4.10 การให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุน (State Participation) ระบุว่า 

“กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน 25% ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือกโดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วน 25%” 

ตนขอเรียนว่า สิทธิการลงทุนดังกล่าวนับเป็นทรัพยสิทธิที่มีมูลค่าตีราคาเป็นเงินได้ และเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทยที่ไม่อาจสละทิ้ง และไม่อาจยกประโยชน์ไปให้แก่ผู้อื่นใดที่มิใช่ประชาชนโดยรวม และถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างหนึ่ง 

และเป็นสิทธิต่างหากจากสิทธิของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และผู้ร่วมลงทุนต่างประเทศ โดยไม่ว่าผู้ชนะการประมูลจะเป็นบริษัทต่างชาติหรือเป็นกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. รัฐบาลไทยก็ยังมีสิทธิดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน 

การที่ผู้ชนะประมูลเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็มิได้ทำให้สิทธิของรัฐบาลไทยหมดไป ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% หรือไม่ นั้น มีผลแตกต่างกันในด้านผลประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับ 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องจัดงบประมาณเพื่อใช้ในการร่วมลงทุน แต่สามารถใช้มูลค่าจากผลผลิตปิโตรเลียมที่รัฐได้รับเป็นส่วนแบ่ง 

ตนจึงได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 และฉบับลงวันที่ 24 ธันวาคม 2561 แจ้งประเด็นนี้แก่นายกรัฐมนตรี สำเนาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยแสดงผลแตกต่างกันในด้านผลประโยชน์ที่รัฐบาลไทยจะได้รับอย่างชัดแจ้ง 

แต่จนบัดนี้ กระทรวงพลังงานก็ยังมิได้แจ้งผลการพิจารณาแก่ตน 

ตนจึงขอร้องเรียนให้ท่านทำการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ารัฐได้ประโยชน์ครบถ้วนตามที่จะพึงได้ และหากมิได้มีการดำเนินการ ก็ควรสอบสวนเพื่อพิจารณาลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องทำให้รัฐขาดไปซึ่งผลประโยชน์

จึงทำหนังสือนี้ให้ปรากฏและเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ และเพื่อประกอบการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป