รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณายกอุทธรณ์ กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือปตท. ไม่เห็นพ้องกับคำสั่ง กกพ.ที่ 44/2566 เรื่องการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทยกรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ชอร์ตฟอล )จากผลการยกอุทธรณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ ทำให้ ปตท. ต้องนำมูลค่าก๊าซที่มีการปรับลดลงจากผู้ผลิตประมาณ 4,300 ล้านบาท มาเป็นส่วนลดในราคา Pool Gas เดือนม.ค. 67 เพื่อนำมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดเดือนม.ค.–เม.ย. 67
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 65 สำนักงาน กกพ. ตรวจสอบพบว่า ผู้ผลิตก๊าซที่ส่งก๊าซไม่ครบตามปริมาณในสัญญาต้องคิดราคาก๊าซฯ งวดต่อไปตามจำนวนที่ขาดส่งในราคาประมาณ 75% จากราคาปกติ เป็นผลให้ ปตท. ซื้อก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวถูกกว่าปกติประมาณ 25% คิดเป็นมูลค่ารวมระหว่างเดือนต.8. 63 – ธ.ค. 65 ทั้งสิ้นประมาณ 4,300 ล้านบาท
แต่ ปตท. กลับนำก๊าซในส่วนดังกล่าวตามราคาเต็ม 100% มาคำนวณในราคา Pool Gas ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนไปยังต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชน
อีกทั้งก๊าซฯ ส่วนที่ขาดไป เป็นเหตุให้ต้องสั่งนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่ซื้อแบบ spot ที่มีราคาสูงมากในช่วงดังกล่าว เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าเกินจริงในส่วนที่ผลิตจากก๊าซ Shortfall
อย่างไรก็ดี กกพ. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 127 ออกคำสั่งที่ 44/2566 ให้ ปตท. ในฐานะผู้รับใบอนุญาต ต้องปฏิบัติตามมาตรา 65 (1) และ (4) มาตรา 68 และมาตรา 71 ส่งนำต้นทุนราคาก๊าซ Shortfall ซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาจริงประมาณ 25% มาใช้คำนวณ Pool gas จะมีผลในการลดค่าไฟฟ้างวดพ.ค. -ส.ค. 66
แต่ ปตท. ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ซึ่งต่อมา กกพ.มีมติยกอุทธรณ์ อันมีผลให้ ปตท.ต้องปฏิบัติทันที มิฉะนั้น กกพ. จำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 128 ปรับวันละ 5 แสนบาท จนกว่า ปตท.จะปฏิบัติตามคำสั่ง หรืออาจจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 122 (2) และมาตรา 132
ส่วนจะเริ่มปรับเมื่อไรนั้น กกพ.จะต้องติดตามว่า การคำนวณต้นทุนค่าก๊าซฯ ในค่าไฟงวดใหม่ม.ค. - เม.ย. ปตท.ได้มีการนำมูลค่า 4,300 ล้านบาท มาเป็นส่วนลดในราคา Pool Gas หรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค. – เม.ย. 67
ข่าวที่เกี่ยวข้อง