เจาะมุมมองความพร้อมไทยสู่“ BCG MODEL: Key Success to Sustainable”

15 ธ.ค. 2566 | 01:25 น.

ถอดรหัส BCG MODEL ขับเคลื่อนโอกาสใหม่ ผลักดันธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานด้วยการใช้เทคโนโลยี

ในงาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ที่จัดโดย​ “กรุงเทพธุรกิจ”วันที่ 14 ธันวาคม 2566  มีการเสวนาในหัวข้อย่อย “ BCG MODEL: Key Success to Sustainable”โดยมีวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้อย่าง นาย แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) นาย ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

งาน “SUSTAINABILITY FORUM 2024”

 

แนะไทยโฟกัส BCG MODEL - CLIMATE ACTION 

นาย แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) เผยว่า จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs)ที่ทุกประเทศวางไว้ในปี 2030 แต่ว่าตอนนี้ไทยในยังไปไม่ถึง 50 % เพราะขาดการลงทุน ดังนั้นหากไทยต้องการให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา และหากไทยต้องการเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในเรื่อง SDGs ก็ไม่จำเป็นต้องทำทุกเป้าหมายทั้ง 17 เป้า แต่ให้เลือกหลักๆอาทิ BCG MODEL และ CLIMATE ACTION ซึ่งหากทำได้ก็จะมีบริษัทฯจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้

นาย แดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF)
 

เจาะพันธกิจทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ สู่ความยั่งยืน 

นาย ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า เป้าหมายของบริษัทเกี่ยวกับ Net zero หรือที่เรียกว่า Journey to Net zero ถือว่าตอบโจทย์รัฐบาลที่้ต้องการไปสู่เป้าหมาย SDGs ปี 2030 และเป้าหมาย Net zero ปี 2065 

 

ในส่วนของบริษัทฯได้มีการวาง Vision and Mission ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์หรือพันธกิจที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยประกอบไปด้วย 4 ข้อหลักได้แก่ การเป็นผู้นำด้านการนำของเสียมาแปลงเป็นพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุด , โรงงานสีเขียว ,การเติบโตไปพร้อมกับ CSR และ ESG ความรับผิดชอบต่อสังคม และ การเป็นบริษัทฯที่ยั่งยืน กับ BCG Economy

Vision and Mission

นาย ภัคพล กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงานและเป้าหมายในอนาคตที่จะมุ่งไป  โดยประกอบไปด้วย  1.การเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นขยะ 2.การลงทุนนอกสถานที่และ ลงทุนเกี่ยวกับโซลาร์-ลม 


1.การเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นขยะ  ที่วางแผนไว้ 6 เฟส ซึ่งตอนนี้เฟสที่ 1 และ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และเฟส 3 เสร็จเดือนเมษายน 2566 และ เฟสที่ 4 5 6 จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงกลางปีหน้าจนถึงปี 2568 และหลังจากปี 2569 จะไม่ใช้ถ่านหิน

 

2.การลงทุนนอกสถานที่ ได้ไปประมูลโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่สงขลาและนครราชสีมา โดยจะขอใบอนุญาตก่อสร้างและเริ่มในช่วงปลายปีนี้ สำหรับที่สงขลา ส่วนนครราชสีมา อยู่ในระหว่างการทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะช้ากว่าที่สงขลาหนึ่งปี 

 

3.โซลาร์ มี 3 โครงการ สำหรับ SOLAR FARMS โซลาร์ฟาร์มมี 2 โครงการและ ROOFTOOP รูฟท็อป 1 โครงการ โดยเฟส 1 น่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม  เริ่มปีหน้า เช่นเดียวกับ รูฟท็อป ก็เริ่มปีหน้า ส่วนเฟส 2 ของโซลาร์ฟาร์มน่าจะเป็นปี 2568 นอกจากนั้นแล้วยังมี Wind Turbine น่าจะขอใบอนุญาตในปีหน้า 

 

"ทั้งหมดคือการลงทุนเพื่อจะย้ายจากการใช้คาร์บอนเยอะ ไปสู่การไม่ปล่อยคาร์บอนเลยตั้งแต่ปี 2026 หรือปี 2569 โดยการลงทุนตั้งแต่ปี 2020 -2026  ประมาณ 12,000 ล้านบาท  ซึ่งเราเตรียมเงินลงทุนไว้แล้ว ถ้าถามว่าลงทุนเยอะไหม ก็ต้องตอบว่าเยอะ แต่ถ้าถามว่าต้องทำไหม ก็ต้องทำ ไม่ใช่แค่เพื่อเรา แต่เพื่อเราและลูกหลานของเราในอนาคต"

นาย ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

สภาอุตฯเสนอรัฐจัดตั้งคกก.ร่วมรัฐ-เอกชนขับเคลื่อน BCG Model

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า ในนามของสภาอุตฯ มีเป้าหมายที่เรียกว่า ONE FTIและ มีนโยบายขับเคลื่อนที่ประกอบไปด้วย ONE VISION ,ONE TEAM ,ONE GOAL ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้นั้นจะต้องไปทั้งองคาพยพ ทั้งบริษัทฯใหญ่ - เล็ก ทั้งอีโคซิสเต็มส์ 

 

"ONE FTI เป็นนโยบายการหลอมรวมทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ขณะที่แผนงานในส่วนของ BCG Model หรือ ESG คือเรื่องเดียวกัน วันนี้ถ้าถามว่าเดินมาถึงจุดไหน พร้อมหรือยัง ต้องบอกว่าทั้งรัฐและเอกชนมีความพยายามที่ดีมาก อย่างไรก็ตาม กติกาบางอย่างใหม่มาก ซึ่งในนามสภาอุตฯเราพยายามจะไปพร้อมกัน ทั้งบริษัทฯใหญ-เอสเอ็มอี ให้ทุกคนเข้าใจภาพเดียวกัน การเดินหน้าไปพร้อมกันมันสำคัญมาก "

 

ทั้งนี้ BCG โปรดักส์จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต ดังนั้นหากไม่ครีเอทโปรดักส์ โอกาสทางธุรกิจจะหายไปเลย หรือธุรกิจเดิมที่ไม่มีการปรับปรุงพัฒนาหรือปกป้องธุรกิจตัวเองอาจจะหายไปทั้งโพรเซสและโพรดักส์ 

 

ดร.สวนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ การเปลี่ยนถ่ายอย่างเป็นธรรม  เพราะวันนี้เราต้องการการช่วยเหลือ การสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงตั้งต้นของเอสเอ็มอี ที่ยังไม่มีความพร้อม ขณะที่บริษัทใหญ่พี่ช่วยน้องอันนี้ตลาดหลักทรัพย์ทำอยู่ สภาอุตฯก็พยายามจะทำเรื่องนี้ ตอนนี้คืออยากให้รัฐออกกฎระเบียบ กติกา มาตรฐานต่างๆ การสนับสนุนทางการเงิน ดังนั้นขอความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนที่พยายามจะตั้งในอนาคต

 

"เราอยากเห็นการบูรณาการ ดังนั้นจึงขอให้รัฐฯช่วยพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนเพื่อจะสนับสนุน BCG ไปข้างหน้า เราไม่อยากให้กระจัดกระจายแต่อยากให้รวมตัวกัน ส่วนกรณีที่เอสเอ็มอี ที่ต้องการให้ช่วยเหลือในช่วงการเปลี่ยนผ่าน สามารถติดต่อของบหรือหากต้องการลิงค์กับกระทรวงไหน สามารถติดต่อเราได้ที่บีซีจีโมเดล ซึ่งเราจะช่วยเชื่อมโยงให้"

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย