"ค่าไฟ" งวดใหม่ ม.ค.-เม.ย.67 ยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียง และได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะกระทบกับค่าครองชีพโดยตรง
หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศค่าไฟงวดดังกล่าวว่าจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย
โดยที่ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้น"ค่าไฟ"ในระดับดังกล่าว
ซึ่งกระทรวงพลังงานกำลังพยายามหาแนวทางทำให้ค่าไฟลดลงมาอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่นายเศรษฐาต้องการให้ค่าไฟลดลงมาอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย
จากการตรวจสอบของ"ฐานเศรษฐกิจ"การตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.20 บาท/หน่วย งวด มกราคม-เมษายน 2567 เพื่อช่วยเหลือภาระค่าไฟฟ้าแก่ประชาชน
ปัจจุบัน กฟผ. รับภาระค่า Ft ค้างรับ (ตามนโยบายภาครัฐ และประกาศของ กกพ.) จำนวนประมาณ 95,777 ล้านบาท และมีเงินกู้เสริมสภาคล่องคงเหลือที่จะต้องชำระอีก 82,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยเหลือประชาชน การตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.20 บาท/หน่วย ในงวดมกราคม-เมษายน 2567 ทำให้ กฟผ. ต้องรับภาระค่า Ft ค้างรับสะสม งวดมกราคมถึงเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีค่า Ft ค้างรับทั้งปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท จะทำให้ กฟผ. มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ในช่วงต้นปี 2567
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เพื่อแบ่งเบาภาระปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. รัฐบาลควรมีนโยบายเพิ่มเติม เช่น ควรให้ ปตท. ช่วยรับภาระส่วนต่างราคาเชื้อเพลิง จากค่าประมาณการและค่าจริงที่จะเกิดขึ้นของเดือนกันยายน 2566 - ธันวาคม 2567 นี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ กฟผ. รับภาระค่า Ft ค้างรับ อยู่ที่ประมาณ 95,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐควรหาแนวทางช่วยเหลือ กฟผ. เพิ่มเติม หากต้องการที่จะตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้อยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย โดย
สำหรับเรื่องไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคหลักของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว เรื่องค่าไฟฟ้า และการรับภาระแทนประชาชนของ กฟผ. ภาครัฐควรกำหนดนโยบายระยะยาวที่ชัดเจนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และเพิ่มเครดิตให้กับประเทศ ภาครัฐควรที่จะกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการคืนค่า Ft ค้างรับ ให้กับ กฟผ. ที่แบกรับภาระแทนประชาชน ด้วย
การตรึงราคาค่าไฟฟ้านี้ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เป็นเพียงการชะลอการชำระค่าไฟฟ้าของประชาชนออกไป ประชาชนยังต้องจ่ายคืนค่าไฟฟ้าส่วนนี้ในภายหลัง ทั้งนี้หาก กฟผ. จะต้องกู้เพิ่มเติม เพื่อรักษาสภาพคล่อง และเกิดภาระดอกเบี้ยขึ้นมา ดอกเบี้ยส่วนนี้ ก็ส่งผ่านไปที่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงยิ่งขึ้นไปอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง