ขณะที่บางงานวิจัยบอกว่าข้าวปล่อยมีเทนมากกว่าปศุสัตว์ (การลดการปลดปล่อยเรือนกระจก : กรณีก๊าซมีเทนจากนาข้าว เศวตฉัตร ศรีสุรัตน์, วารสารสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ)
สำหรับนโยบายข้าวคาร์บอนตํ่าระหว่างไทยกับเวียดนาม ได้ดูองค์ประกอบโดยรวม และวัดจากแผน การลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) แล้ว พบว่า “เวียดนามทำเป็นเรื่องเป็นราวและระบุข้าวคาร์บอนตํ่าชัดเจนมากกว่าไทย” พูดง่าย ๆ เวียดนามแซงหน้าไทยเรื่องนี้
"เวียดนามมีการคำนวณการปล่อย GHG ข้าว และมีแผนผลิตข้าวคาร์บอนตํ่าปีละเท่าไร" ขณะนี้ทุกประเทศในโลกมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องลดการปล่อย GHG ส่วนใหญ่ในปี ค.ศ.2050 เวียดนามก็เช่นกัน มีการบรรจุ “ข้าว” อยู่ในแผนการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2050 เพราะเวียดนามรู้ดีว่า ข้าวที่ปลูกปล่อย GHG มากถึง 44.7 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า เวียดนามต้องการลดให้เหลือ หรือใกล้เคียง 30 ล้านตันคาร์บอนในปี 2030 ให้ได้ วิธีการคือผ่านโครงการจากรัฐบาลเวียดนามดำเนินการเอง และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศสนับสนุน
ผมพยายามจะหาข้อมูลว่า ข้าวไทยปล่อย GHG เท่าไร ก็ยังหาไม่พบว่าข้าวปล่อยเท่าไร การที่ไทยไม่รู้ว่า ข้าวปล่อย GHG เท่าไร มีข้อเสีย 2 เรื่องใหญ่คือ 1.พลาดเป้าลด GHG ไทยจะไม่สามารถลด GHG ได้ตามเป้าหมาย NDC ที่ประกาศไปทั่วโลกในปี 2050 และ 2.ข้าวไทยจะสูญเสียศักยภาพการแข่งขัน เพราะในอนาคตอันใกล้ตลาดถามหา “ฉลากคาร์บอน (Carbon Footprint)” หรือปริมาณการมีเทนข้าวไทยที่ปล่อย
เมื่อประเทศไทยไม่ขยับ “ข้าวคาร์บอนตํ่า” เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเรื่องเป็นราว ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จึงเกิดองค์กรใหม่ข้าวขึ้น ชื่อว่า “ภาคีข้าวคาร์บอนตํ่า” คงมีการเปิดตัว อย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ ผมเป็น 1 ในผู้ร่วมก่อตั้งภาคีฯ ปัจจุบันภาคีประกอบด้วย “สมาคมเกษตรปลอดภัย” “สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย” “สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย” และบริษัทอินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด ที่ผมเป็นที่ปรึกษาบริษัทอยู่ กำลังรอการตอบรับจากสมาคมโรงสี เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายข้าวคาร์บอนตํ่าที่ครบวงจร ขณะนี้มีประธานภาคีฯ คือ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ
สำหรับภารกิจสำคัญเพื่อข้าวของไทยในครั้งนี้คือ การผลักดันการผลิตข้าวคาร์บอนตํ่าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่เฉพาะจากต้นนํ้า แต่เป็นทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตข้าวคาร์บอนตํ่า นั้นคือเป็นข้าวที่เกิดจากการผลิตข้าวคาร์บอนตํ่า ที่มาจาก 3 ส่วนผู้มีบทบาทสำคัญคือ ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก เป้าหมายสุดท้ายของภาคีฯ คือ การมี “คู่มือข้าวคาร์บอนตํ่าของไทย เพื่อเป็นแนวทางปฎิบัติ”
พื้นที่นำร่องของข้าวคาร์บอนตํ่าอยู่ที่ อ.หนองหญ้าไส จ.สุพรรณบุรี องค์ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญคือ การแกล้งข้าว หรือ ระบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ที่นานาประเทศส่วนใหญ่ใช้เพื่อลดมีเทน และ “นาสภาพไร่” ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ไม่ให้นํ้าขังในนาข้าว แต่จะรักษาอุณหภูมิและความชื้นของดินให้เหมาะสม วิธีการนี้นอกจากจะช่วยลดมีเทนแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้นํ้า ที่นํ้าทำการเกษตรในประเทศไทย หายากเต็มที่ เกษตรกรหรือชาวนาหลายรายปัจจุบันต้องซื้อนํ้าทำการเกษตร (นํ้า 1 คันรถ ขนาดเท่ารถขนนํ้ามัน ราคาขนนํ้า 1,000 บาท)
อนาคตข้าวไทยนอกจากปัญหาเดิม ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว กำลังเจอปัญหาโลกร้อน ที่ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ชื้อ ทั้งที่เป็นอาหารคน และอาหารสัตว์ (ใช้แกลบหรือรำข้าวในการเลี้ยงสัตว์ ที่มาจากข้าวที่ปล่อยมีเทน) ความสำเร็จตามเป้าหมายของภาคีฯ เป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่จะกำหนด “อนาคตข้าวไทย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง