สืบเนื่องจากการที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง โดยประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี 2608 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสมประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2593
ซึ่งจากสัตยาบันดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับภารกิจ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้าใจ การมีส่วนร่วมดำเนินงาน และสนับสนุน การจัดการก๊าซเรือนกระจกไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ เกิดการบูรณาการและสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า สวอช. ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานหลักของหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) โดยสอวช.ได้เข้าร่วมประชุม COP มาอย่างต่อเนื่องทำให้มีความเข้าใจระบบนิเวศนวัตกรรมสีเขียวและตระหนักถึงความสำคัญ
จึงได้ดำเนินการวิจัยเชิงระบบเพื่อวิเคราะห์ช่องว่างระบบนิเวศของประเทศและเห็นว่า กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมต่อการทำงานระหว่างภาคส่วนรายสาขาทั้งระดับชาติและนานาชาติ การใช้นวัตกรรมเข้ามาปฏิบัติยังมีช่องว่างอยู่จึงนำเสนอต่อ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้มีการนำนโยบาย การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าสนับสนุนเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2608
ดร.กิติพงค์ กล่าวต่อว่า สวอช. จึงเริ่มดำเนินการเสนอ "ระบบนิเวศและเมือง Net Zero Emission" ในพื้นที่ สระบุรี แม่เมาะ ระยอง และภูเก็ต โดยได้เลือกสระบุรีเป็น เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย เนื่องจากมีภาคส่วนที่เข้มแข็งมากคือ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ที่เป็นผู้ริเริ่มให้เกิด "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" และเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนลดลง จาก Roadmap Thailand Chapter ที่ประกาศไว้ใน COP27 จึงเป็นที่มาของความร่วมมือ PPP ที่เป็น Area-baes ที่มี TCMA เป็นผู้ริเริ่มในการขับเคลื่อนกับภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม โดยมี สอวช.สนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เห็นความเชื่อมโยงการทำงานข้ามรายสาขา ในส่วนของ สอวช. ได้เขียนข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Fund, GEF) ในโมเดลของ "สระบุรีแซนด์บ็อกซ์" ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งมีหน่วยงานกลางประสานงานเชิงปฏิบัติการ อยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงเหตุผลที่เลือก จ.สระบุรี เป็นเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจาก จ.สระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมาก เพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยว มีความเป็นเมืองที่ผสมผสาน มีผลกระทบหลายภาคส่วน สามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้ จึงมีการบูรณาการกันเพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่างๆ ในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ส่วนกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนั้น หากได้รับการสนับสนุนที่มากพอ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2593 นำไปสู่การถอดบทเรียนเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบ สร้างแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ ทำในลักษณะเดียวกันในบริบทที่แตกต่างกันไป
"ปัจจุบันมีการกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำ การปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้ให้ชุมชน" ดร.กิติพงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวด้วยว่า ด้วยข้อกำหนดในระดับนานาชาติเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวก่อนใคร โดยขณะนี้ประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ได้ลงมือทำแล้วคือ คืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือ กำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Eco-system สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ในการร่วมประชุม COP ในแต่ละปีประเทศไทยต้องมีนวัตกรรมไปนำเสนอในนามกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีประชากร 600 ล้านคน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีจากการกดดันของกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเห็นภาพอุตสาหกรรมสีเขียว โดยให้เอกชนนำ รัฐสนับสนุน และมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมากขึ้น
ดร.กิติพงค์ ย้ำว่า สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นการจุดประกายที่ทำให้เห็นว่าประเทศไทยแก้ปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกทาง จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะ TCMA ที่ได้ริเริ่มผลักดันร่วมกับ จังหวัดสระบุรี และการสนับสนุนจาก 7 กระทรวง และ สอวช. จนนำไปสู่ข้อเสนอ 4 แนวทาง เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคม ได้แก่
1.สร้างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย
2. เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติ
3.เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization)
4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชน
ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ภายในเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน