energy

สงครามยื้อ-เข้าฤดูหนาว จับตาน้ำมันดิบพุ่ง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    สถานการณ์การความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ส่อไปในทางรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เมื่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนยิงจรวดโจมตีเข้าใส่ทางภาคเหนือของอิสราเอล และเตรียมเข้าสู่ภาวะสงคราม

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ได้เสริมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเรือรบหลายลำและเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด เข้าประจำการ โดยมีการประเมินว่าสถานการณ์สงครามครั้งนี้ จะทวีความรุนแรงยืดเยื้อและขยายวงกว้าง

สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น บวกการเข้าสู่ฤดูหนาว ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้นํ้ามันเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการลดกำลังการผลิตนํ้ามันดิบของซาอุดิอาระเบีย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ จะส่งผลให้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไประดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้ จากปัจจุบันนํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส เบรนท์ และดูไบ อยู่ที่ราว 86-88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

สงครามยื้อ-เข้าฤดูหนาว จับตาน้ำมันดิบพุ่ง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสแม้ว่าจะยังไม่มีผลกระทบโดยตรงกับการจัดหานํ้ามันดิบในตลาด เนื่องจากอิสราเอลผลิตนํ้ามันดิบได้น้อย แต่หากความขัดแย้งขยายวงกว้างจากฉนวนกาซาไปสู่ภูมิภาคอื่น อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตนํ้ามันดิบในแถบตะวันออกกลาง

อีกทั้ง ความขัดแย้งอาจส่งผลต่อการส่งออกนํ้ามันของอิหร่าน โดยนักวิเคราะห์จาก CBA มองว่าหากสหรัฐอเมริกาพบว่าอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีของกลุ่มฮามาส อิหร่านอาจต้องเผชิญกับมาตรการควํ่าบาตรที่รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยคาดการณ์ว่าราคานํ้ามันดิบเบรนท์จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และหากสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ราคานํ้ามันดิบเบรนท์อาจพุ่งสูงเกินกว่านั้น

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ราคานํ้ามันโลกว่ายังคงมีความผันผวนจากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดของวิกฤตความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ การขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตนํ้ามันจนถึงสิ้นปีของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอีกหลายแห่งในโลก ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุน สภาพเศรษฐกิจ และต้นทุนพลังงานทั่วโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทั่วโลก ดังนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงาน จำเป็นต้องวางแผนและปรับตัวอย่างมาก

ขณะที่คณะกรรมการบริหารกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (กบน.) ชี้ให้เห็นว่า ราคานํ้ามันโลกยังอยู่ในกรอบที่กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงรับมือได้ หากราคานํ้ามันดีเซลในตลาดโลกไม่เกิน 115-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ยังสามารถดูแลราคานํ้ามันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไปได้ โดยกองทุนนํ้ามันฯ ชดเชยราคาดีเซลไว้ที่ 4.48 บาทต่อลิตร

สำหรับฐานะกองทุนนํ้ามันฯ ยังคงติดลบ 68,327 ล้านบาท จากบัญชีนํ้ามันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 45,005 ล้านบาท โดยมีรายรับอยู่ที่ 141.22 ล้านบาทต่อวัน แต่มีรายจ่ายรวมถึง 364.66 ล้านบาทต่อวัน เป็นการชดเชยราคานํ้ามัน 210 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวมกองทุนฯ อยู่ในสภาวะเงินไหลออก 223.44 ล้านบาทต่อวัน