AWC จับมือ ททท. รวมถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เปิดตัวโครงการ “AWC Stay to Sustain” รวมสร้างมาตรฐานใหม่ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน โดยทุกการเข้าพัก 1 คืนในโรงแรมเครือ AWC ผู้เข้าพักจะได้ร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน พิทักษ์ความหลากหลายชีวภาพ และส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีผ่านความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
โครงการ “AWC Stay to Sustain” ตั้งเป้าร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ต้น กว่า 5,000 ไร่ ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางระบบนิเวศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 ควบคู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม
AWC ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สรรหาผลิตภัณฑ์หลากหลายจากกว่า 230 ชุมชนมาเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ในโรงแรมชั้นนำระดับโลกในเครือ AWC เปิดโอกาสให้งานฝีมือคนไทยได้มีโอกาสแสดงสู่สายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และจำหน่ายในร้าน เดอะ Gallery ทั่วทุกโครงการของ AWC สร้างรายได้
วันนี้(วันที่ 10 ตุลาคม 2566) บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร สานต่อความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมผนึกกำลังกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) ชวนนักท่องเที่ยวร่วมโครงการ “AWC Stay to Sustain”
ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในป่าชุมชน เพิ่มความหลากลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ พร้อมดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มการผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับอากาศบนโลกใบนี้ ควบคู่การสร้างรายได้ในชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว
ตอกย้ำความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์กรอบการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 3BETTERS ของ AWC ทั้ง BETTER PLANET BETTER PEOPLE และ BETTER PROSPERITY ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ ททท. ที่มุ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำการสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก ร่วมส่งต่อคุณค่ากับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า “ททท. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ AWC ซึ่งมีพอร์ตโรงแรมที่หลากหลายทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักทั่วประเทศที่ได้ริเริ่มโครงการเพื่อความยั่งยืนให้เป็นต้นแบบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผ่านโครงการ “AWC Stay to Sustain”
รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่มอบประสบการณ์สุดพิเศษให้นักท่องเที่ยวที่นอกจากจะได้รับความประทับใจจากการท่องเที่ยวประเทศไทยแล้ว ยังได้ร่วมสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ประเทศไทยอีกด้วย โดย ททท. สนับสนุนผู้ประกอบการให้ก้าวสู่การท่องเที่ยวที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ตามแผนพัฒนา BCG Model และยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกำหนดมาตรวัดผลลัพธ์การดำเนินการที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของ ททท. ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวไทย และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวยั่งยืนจากทั่วโลกที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “AWC ได้สืบสานนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืนของ ททท. ร่วมกับพันธมิตรแบรนด์โรงแรมที่บริหารโรงแรมทั้ง 22 แห่งของ AWC ทั่วประเทศ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และร่วมสร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนให้ประเทศไทย
โดยมุ่งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแขกผู้เข้าพักในโรงแรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวคุณภาพสำหรับนักเดินทางที่มองหาทางเลือกการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ที่เข้าไปท่องเที่ยว
เราจึงริเริ่มโครงการ “AWC Stay to Sustain” ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบการเข้าตลาดหลักทรัพย์ครบ 4 ปี ของ AWC เปิดโอกาสให้แขกผู้เข้าพักโรงแรมในเครือได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนในประเทศไทย โดยทุกการเข้าพัก 1 คืน ภายในโรงแรมเครือ AWC จะร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อสนับสนุนโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และรักษาผืนป่าในระยะยาว
"AWC จะใช้งบราว 15-20 ล้านบาท/ปี สำหรับดำเนินโครงการนี้ โดย 1 คืนจะสนับสนุนเงินอยู่ที่ 10 บาท เพื่อสนับสนุนโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มาเข้าพักได้มีส่วนร่วมเจ้าร่วมโครงการนี้ด้วย ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนในประเทศไทย"
พร้อมส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนที่จะเป็นผู้ดูแลป่า สอดคล้องกับแนวทางของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติของสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมองค์รวม
หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” มาเป็นเวลาเกือบสี่ทศวรรษ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังกับ AWC ร่วมสืบสานเจตนารมณ์การฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงนำประสบการณ์มาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า
พร้อมร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและโลกไปในคราวเดียวกัน ซึ่งการสร้างผืนป่าและอนุรักษ์ป่าไม้เป็นปัจจัยสำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร และในระดับประเทศ รวมถึงการลดภาวะโลกร้อนและลดอัตราการเกิดไฟป่า
โดยทางมูลนิธิฯ จะนำรายได้สนับสนุนจากโครงการ “AWC Stay to Sustain” ไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุนเพื่อชุมชนสองประเภท คือ กองทุนดูแลป่า และกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน ในขณะเดียวกันปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
"AWC Stay to Sustain” เป็นหนึ่งในโครงการตามกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ AWC (3BETTERs) ผ่านความร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อร่วมฟื้นฟูดูแลผืนป่าในระยะยาว โดย AWC ตั้งเป้าสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในแต่ละปีประมาณ 500,000 ต้น รวมกว่า 5,000 ไร่ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
หรือเท่ากับการเข้าพัก 1 คืน ร่วมดูแลต้นไม้ 1 ต้น จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี สอดรับกับเป้าหมายระยะยาวของ AWC ในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573
นอกจากนี้ AWC จะร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สนับสนุนการสร้างรายได้ชุมชนด้วยการสรรหาผลิตภัณฑ์งานฝีมือจากชุมชนทั่วประเทศมาตกแต่งในโรงแรมแบรนด์พันธมิตรชั้นนำระดับโลกเครือ AWC รวมถึงการนำผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพจากชุมชนมาปรุงอาหารและเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวที่เข้าพักในโรงแรมได้ลิ้มรส เปิดโอกาสให้คนไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานสู่สายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ควบคู่การสนับสนุนความยั่งยืนเพื่อสังคมที่มั่นคงรุ่งเรืองด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม
“AWC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์โรงแรมชั้นนำระดับโลก สร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้แนวคิด ‘AWC Be Better’ เพื่อมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนแก่โลกใบนี้ร่วมกัน อาทิ
โรงแรม บันยันทรี สมุย และโรงแรม บันยันทรี กระบี่ จัดโครงการชวนนักท่องเที่ยวเก็บขยะริมชายหาด สามารถเก็บขยะได้ปริมาณกว่า 7 ตัน และโรงแรมในเครือ AWC 9 โรงแรม ได้ร่วมโครงการส่งต่ออาหารส่วนเกินคุณภาพดีให้แก่ชุมชน จำนวน 186,880 มื้อ ช่วยลดปริมาณขยะจากการดำเนินงานสู่บ่อฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 112 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เพื่อปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ (Safeguarding Natural System)
โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ จัดโปรแกรมครัว 360 องศา เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เลือกรับประทานอาหารที่ใช้ผลผลิตจากฟาร์มออร์แกนิคของโรงแรมมาปรุงอาหาร และเยี่ยมชมฟาร์มเพื่อเรียนรู้วิธีการเกษตรแบบยั่งยืนและสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น โดยเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานอาหารยังถูกส่งกลับไปที่ฟาร์มเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก ช่วยลดปริมาณขยะของโรงแรมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม ‘เดอะ GALLERY’ ศูนย์กลางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นภายในเครือโรงแรมของ AWC
จะที่ร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์โรงแรมสร้างสรรค์กิจกรรมวัดผลความยั่งยืนที่ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) ตลอดจนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์และคุณค่าร่วมกัน (Sustainable and Resilience Supply Chain)
ทั้งนี้ AWC เชื่อมั่นว่าการรวมพลังความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและชุมชน จะช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก พร้อม “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” ให้กับทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน นางวัลลภา กล่าวสรุป
AWC ยังตั้งเป้าให้ทุกโรงแรมและศูนย์การค้าในเครือได้รับประกาศนียบัตร โครงการ STAR “ดาวแห่งความยั่งยืน” ของ ‘การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย’ ตามเป้าหมาย STGs (Sustainable Tourism Goals) ของ ททท. สะท้อนความมุ่งมั่นของ AWC ที่ดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติของธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดีของสถานประกอบการ
ควบคู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง