“พีระพันธุ์” จ่อแก้กฎหมายคุมค่าการตลาด “น้ำมัน” ต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร

03 ต.ค. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 16:19 น.
846

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เล็งแก้กฎหมายคุมค่าการตลาด “น้ำมัน” ต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร พร้อมส่งให้กฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย หาบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

(3 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือกับหน่วยงานในสังกัด ในการกำกับดูแลราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ว่า ราคาน้ำมันเบนซินที่มีราคาแพงในปัจจุบัน เป็นเพราะส่วนของ ค่าการตลาด ซึ่งผู้ประกอบการมีการกำหนดค่าตลาดที่สูงมาก 

ทางกระทรวงพลังงานจึงได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นสินค้าควบคุม จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องค่าการตลาด เพื่อให้อยู่ในกรอบที่กระทรวงพลังงานกำหนด 

ที่ผ่านมาเคยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ในการกำหนดค่าตลาดที่มันเกิน 2 บาท แต่จะต่ำกว่าไม่เป็นไร แต่ปัจจุบันในบางรายมีค่าการตลาดสูงถึง 4 บาทต่อลิตร

ตอนนี้คงมาดูในเรื่องการแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนด ค่าการตลาดราคาน้ำมันไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ทุกชนิดน้ำมัน และหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีการเพิ่มบทลงโทษ โดยที่มีการหารือร่วมกับ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวางแนวทางในการปรับแก้กฎหมายต่อไป

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีข้อโต้แย้งว่ากระทรวงพลังงาน มีข้อกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่อ้างอิงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ซึ่งในวันนี้ได้มีการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งในขั้นตอนต่อไปอาจจะต้องมีการแก้ไขข้อของกฎหมาย

สำหรับการกำหนดราคา ค่าการตลาด จะเป็นกี่บาทขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานกำหนด โดยปัจจุบันค่าตลาดที่กำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการเรียกผู้ประกอบการ (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7) เข้าหารือ และชี้แจงถึงค่าการตลาด ของน้ำมันแต่ละประเภท มีต้นทุนรายละเอียดอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการชี้แจงว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง 

แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดของตัวเลขในการจัดเก็บค่าการตลาดมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากอ้างว่าเป็นข้อมูลทางการค้าที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ทำให้ภาครัฐไม่สามารถรู้ข้อมูลที่แท้จริง