energy

ส่องแนวโน้ม"ราคาน้ำมันดิบ"ตลาดโลก หลังแนวโน้มอุปทานตึงตัว

    ส่องแนวโน้ม"ราคาน้ำมันดิบ"ตลาดโลก หลังแนวโน้มอุปทานตึงตัว เหตุซาอุฯ ขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิต และรัสเซียขยายเวลาปรับลดการส่งออกน้ำมันไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ ระบุตลาดกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของยุโรป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกพบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากความกังวลว่าอุปทานน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวต่อเนื่องหลังซาอุฯ ขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิต และรัสเซียขยายเวลาปรับลดการส่งออกน้ำมันไปจนถึงช่วงสิ้นปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัวหลังคณะกรรมาธิการยุโรปปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซน ในปี 2566 มาอยู่ที่ +0.8% 

โดยชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในยุโรปยังอยู่ในระดับสูง โดยยังต้องจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่ง Reuters Polls คาด ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ อีก 0.25% จากระดับปัจจุบัน มาอยู่ที่ 4.00% เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อให้มาอยู่ที่เป้าหมายที่ 2%

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 4 - 10 กันยายน 2566) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 87.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 4.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากความกังวลต่ออุปทานตึงตัว หลังซาอุดีอาระเบียขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมที่ 1.0 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปี 
 

ขณะที่รัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงสิ้นปีเช่นกัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางความกังวลต่ออุปทานจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นในสหรัฐฯ

ส่องแนวโน้ม"ราคาน้ำมันดิบ"ตลาดโลก หลังแนวโน้มอุปทานตึงตัว

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 กันยายน 2566 ปรับลดลง 6.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 416.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.6 ล้านบาร์เรล

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 109.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 103.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 106.33 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทรงตัวจากสัปดาห์ที่แล้ว โดย EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 กันยายน 2566 ลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 214.7 ล้านบาร์เรล 

ด้านอุปสงค์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 9.32 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 กันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.91 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 13.84 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ121.78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  โดยตลาดคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลทั่วโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500,000 บาร์เรล/วัน ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากฐานตัวเลขอุปสงค์ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือและจีน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง Platts ได้ประเมินปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลของรัสเซียจากท่าทางตะวันตกในทะเลบอลติกและทะเลดำ เดือน ก.ย. 66 ลดลง 130,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 470,000 บาร์เรล/วัน จากโรงกลั่นขนาดใหญ่ 12 แห่ง ในประเทศปิดซ่อมบำรุง 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.34 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ที่ระดับเฉลี่ย 35.5853 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.23 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.36 บาท/ลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.28 บาท/ลิตร

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 17 กันยายน 2566 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 41,410 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 103,051 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 16,902 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 44,739 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังได้ติดสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ในตลาดจร หรือ Spot LNG ช่วงระหว่างวันที่ 4-8 กันยายน 2566 พบว่า ราคา Spot LNG เฉลี่ยในสัปดาห์นี้ ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.202 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ระดับ 12.961 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู เนื่องจากความต้องการ LNG ในตลาดยังคงซบเซา โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียเหนือ ที่ปริมาณ LNG Inventory คงเหลือยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

แม้ความต้องการใช้จะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติใน storage ของยุโรป อยู่ที่ 93.7% ของความจุ ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ European Commissions ที่กำหนดให้ประเทศในยุโรปต้องสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 90% ของความจุ ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566