zero-carbon

อินโดฯ เปิดบริการรถไฟลอยฟ้าในกรุงจาการ์ตา ฝ่าปัญหารถติด แก้มลพิษทางอากาศ

    มาช้ายังดีกว่าไม่มา ในที่สุด “จาการ์ตา” เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ก็มีรถไฟลอยฟ้า "รถไฟฟ้ารางเบา" สายแรกที่จะวิ่งให้บริการเชื่อมเมืองหลวงกับสองเมืองปริมณฑล มูลค่าโครงการกว่า 7 หมื่นล้าน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดเรื้อรัง และมลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ลงทุกวัน

     

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย เป็นประธานในพิธีเปิดตัว รถไฟลอยฟ้า สายแรกที่จะเชื่อมโยง กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ กับสองเมืองปริมณฑล เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยรถไฟลอยฟ้าสายนี้เป็นโครงการมูลค่า 2,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 75,189 ล้านบาท วัตถุประสงค์ของโครงการคือการนำเสนอระบบขนส่งมวลชนรูปแบบทันสมัยที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดเรื้อรังและมลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ลงทุกขณะในกรุงจาการ์ตา ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

ทั้งนี้ ระบบรถไฟลอยฟ้าสายดังกล่าว เป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit – LRT) ไร้คนขับและมีระยะทางวิ่ง 41.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างกรุงจาการ์ตากับเขตปริมณฑล ได้แก่ เมืองเบอกาซี และเดปกของจังหวัดชวาตะวันตก

รถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit – LRT) ไร้คนขับ ระยะทางวิ่ง 41.2 กิโลเมตร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เดิมทีประชาชนในกรุงจาการ์ตาและปริมณฑลต้องใช้บริการรถไฟชานเมือง (Commuter Line) ซึ่งมีระยะทาง 418 กิโลเมตร และให้บริการผู้โดยสารประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน

รายงานข่าวระบุว่า กรุงจาการ์ตาติดอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2566 และเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ กรุงจาการ์ตาก็ติดอันดับ 1 ของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากการรวบรวมข้อมูลของ IQAir ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านคุณภาพอากาศจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

อินโดนีเซียนำรถไฟฟ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจราจรและมลภาวะทางอากาศ

ปธน.วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียระบุว่า ปัญหามลพิษในกรุงจาการ์ตานั้นเกิดจากการใช้รถใช้ถนนมากเกินไปและเกิดจากอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน โดยสถิติชี้ว่า ในปัจจุบัน มียวดยานพาหนะแล่นเข้าสู่กรุงจาการ์ตาจำนวนเกือบๆ 1 ล้านคันในแต่ละวัน

ด้านสำนักข่าวนิคเคอิ สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า รถไฟลอยฟ้าสายนี้ นับเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) สายแรกที่ให้บริการในกรุงจาการ์ตาเชื่อมโยงสองเมืองปริมณฑล แต่ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยมีรถไฟ LRT ใช้มาก่อนแล้ว 2 สาย โดยสายแรกเปิดตัวในจังหวัดสุมาตราใต้ เริ่มให้บริการในปี 2561 ระยะทางเพียง 23 กิโลเมตร ส่วนโครงการที่สองตามมาในปี 2562 ให้บริการในเขตเมืองจาการ์ตาระยะทางสั้นๆ 5.8 กิโลเมตร ดังนั้น สายล่าสุดที่เพิ่งเปิดให้บริการเดือนสิงหาคมนี้ จึงเป็นสายที่สามของประเทศ มีชื่อเรียกว่าสาย LRT Jabodebek ระยะทางให้บริการยาวที่สุด คือ 42.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย 18 สถานี   

พร้อมให้บริการ 18 สถานี

ทั้งนี้ เมืองหลวงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน นอกจากจะติดอันดับเมืองใหญ่ที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ยังติด 1 ใน 10 เมืองที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมากที่สุดในโลกด้วย นอกจากบริการรถไฟลอยฟ้า LRT แล้ว ปัจจุบัน เมืองหลวงแห่งนี้ยังมีระบบรถไฟใต้ดิน (MRT) ความยาว 16 กิโลเมตรวิ่งให้บริการในย่านใจกลางเมืองหลวงกับพื้นที่ชานเมืองทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา 

ทั้งความติดขัดของการจราจรและคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ ทำให้อินโดนีเซียมีแผนย้ายเมืองหลวงไปยังที่ใหม่ในเมืองนูซันทารา (Nusantara) บนเกาะบอร์เนียว โดยโครงการได้เริ่มขึ้นแล้วและจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของประธานาธิบดีวิโดโดที่มีกำหนดครบวาระการดำรงตำแหน่งในปีหน้า (2567) 

ข้อมูลอ้างอิง