"กฟผ."รุกนำร่องพัฒนาสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอนต่อยอด"พลังงานสะอาด"

26 ส.ค. 2566 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2566 | 15:08 น.

"กฟผ."รุกนำร่องพัฒนาสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอนต่อยอด"พลังงานสะอาด" มุ่งให้เป็นสถานที่สาธิตวิจัยและพัฒนาด้านสมาร์ทกริดระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน วางเป้าเป็นต้นแบบเมืองที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทำโครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นสถานที่สาธิตวิจัยและพัฒนาด้านสมาร์ทกริดระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าของจังหวัดให้มีความมั่นคง เป็นต้นแบบของเมืองที่มีประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน 

ควบคู่กับส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 Smart ได้แก่ 

  • Smart System พัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในพื้นที่ให้มีความมั่นคง 
  • Smart Energy สร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด 
  • Smart City ส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว ผ่านการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
  • Smart Learning สร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสังคม พร้อมสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน

กฟผ.รุกนำร่องพัฒนาสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอนต่อยอดพลังงานสะอาด

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาเรื่องพลังงานอย่างสนุกสนาน โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นแห่งที่ 8 ของ กฟผ. พร้อมยกระดับสู่มาตรฐาน Trees-NC ระดับ Gold ของสถาบันอาคารเขียวไทยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการก่อสร้างแล้วเสร็จ คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อม 

และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร โดยตัวอาคารมีลักษณะคล้ายก้อนหินที่วางอยู่ท่ามกลางหุบเขา กลมกลืนกับธรรมชาติของจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

"ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่องนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านสมาร์ทกริด การจัดการพลังงาน และการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ผ่านอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมของพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนจังหวัดสู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียว ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีด้านพลังงานซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น"