zero-carbon

"GPSC"ดันติดโซลาร์500กิโลวัตต์หนุนองค์กรไม่แสวงกำไร หน่วยงานรัฐ

    "GPSC"ดันติดโซลาร์500กิโลวัตต์หนุนองค์กรไม่แสวงกำไร หน่วยงานรัฐ สร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด มุ่งลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือสังคม มุ่งดูแลสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินการร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ทั้งนี้ ขับเคลื่อนพลังงานสะอาดให้กับหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “คนมีไฟ” เพื่อขับเคลื่อนพลังงานสะอาดให้กับหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน 

 

ซึ่งจะเป็นการส่งมอบพลังงานสะอาด จากโซลาร์เซลล์แบบออนกริด (On-Grid) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับหน่วยงานรัฐที่มีการดำเนินงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแต่มีการดำเนินงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร

GPSCดันติดโซลาร์500กิโลวัตต์หนุนองค์กรไม่แสวงกำไร หน่วยงานรัฐ

โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 500 กิโลวัตต์ สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6,900 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20 ล้านบาท โดยจะเริ่มติดตั้งในปี 2566 จำนวน 100 กิโลวัตต์ 

สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น เป็นความร่วมมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดระดับชุมชน และหน่วยงานรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนโดยรอบหน่วยงาน ด้วยการใช้งบประมาณจากส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่สามารถลดลงภายหลังจากการติดตั้งระบบดังกล่าวแล้ว และทำให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำส่วนลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ไปเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

"โครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของในระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ทำการติดตั้ง โดยมีเงื่อนไขการทำสัญญาเพื่อดำเนินโครงการร่วมกัน พร้อมจัดตั้งกองทุนค่าไฟฟ้า รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการ ทั้งในรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบำรุงรักษาเพื่อให้มีการดูแลรักษาระบบฯ ให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าตลอดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังเป็นโมเดลความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนด้านการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาคชุมชนและหน่วยงานรัฐช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะนำไปสู่การลดภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน"