“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

10 พ.ค. 2566 | 15:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 15:37 น.

กลุ่มบริษัทบางจาก เผยยอดขายไตรมาสแรกปี 66 พุ่งกว่า 8 หมื่นล้าน โต 16% หลังเพิ่มกำลังการกลั่น สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะธุรกิจต้นน้ำ OKEA ส่งมอบยอดขายสูงสุดตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการมา เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยถึง ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2566 ของกลุ่มบริษัทบางจาก ว่า ถือเป็นไปตามเป้าหมายและสะท้อนผลลัพธ์จากแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากที่เน้นย้ำการเติบโตธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 กลุ่มบริษัทบางจากมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 80,380 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 คิดเป็น EBITDA รวม 10,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปี 2565  คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.91 บาท

 

สำหรับผลการดำเนินงานแต่ละกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรกของปี 2566 มีดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA รวม 4,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 20 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยโรงกลั่นบางจากฯ ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดที่ 124.7 พันบาร์เรลต่อวัน โดยในไตรมาสนี้ รับรู้กำไรจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า (รวมการวัดมูลค่ายุติธรรมตามมาตรฐานบัญชี) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

ส่วนค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลงจาก 14.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในไตรมาส 4 ปี 2565 มาอยู่ที่ 11.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือลดลง 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักมาจาก Crack Spread ของผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก ซึ่งน้ำมันดีเซลเป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นบางจากฯ ผลิตได้มากที่สุด  และในไตรมาสนี้มีการรับรู้ Inventory Loss 4.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเทียบเท่า 1,687 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงในอัตราที่ต่ำกว่าไตรมาสก่อน

  • กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม 737 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับลดลงร้อยละ 34 จากไตรมาสแรกปี 2565  โดยในไตรมาสนี้ค่าการตลาดต่อหน่วยเพิ่มขึ้น จากการปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ที่เหมาะสมและการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลตามมติของกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งจะเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการตลาด ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรวมลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาล

“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

  • กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA รวม 852 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 72 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยในไตรมาสแรกปี 2566 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นและไทย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และร้อยละ 4  จากไตรมาสก่อน ตามลำดับ) เป็นผลจากปัจจัยฤดูกาล เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในไทยที่ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากไตรมาสก่อนหน้าจากกำลังลมที่พัดผ่านมากขึ้น นอกจากนี้ มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในเดือนมีนาคม 2566 อย่างไรก็ดี โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป. ลาว มีการหยุดการผลิตไฟฟ้าในไตรมาสนี้ เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม  

“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

  • กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 107 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 69 จากไตรมาสแรกปี 2565 โดยธุรกิจเอทานอลทมีรายได้จากการขายลดลง จากปริมาณการขายปรับลดลง ตามแผนบริหารการขาย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) ที่ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน และสารเคมีปรับลดลง
  • กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ มี EBITDA รวม 5,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากไตรมาสแรกปี 2565 จากปริมาณจำหน่ายของ OKEA ASA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าร้อยละ 100 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากมีปริมาณการจำหน่ายมากกว่ากำลังการผลิตตามสัญญาจากการจำหน่าย 2 Cargoes จากแหล่งผลิต Draugen และรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากแหล่งผลิต Brage ที่โอนกิจการมาจาก Wintershall Dea ส่งผลให้ไตรมาสนี้ OKEA ทำสถิติรายได้สูงสุด และยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด OKEA ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายแหล่งปิโตรเลียม Statfjord บนไหล่ทวีปนอร์เวย์ (Norwegian Continental Shelf - NCS) (ร้อยละ 28) ทำให้กำลังการผลิตรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันจากระดับ 20,000-25,000 บาร์เรล ซึ่งคาดว่าธุรกรรมการซื้อขายจะสำเร็จลุล่วงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า  สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะในยุโรป แต่ยังมีปัจจัยความกังวลอุปทานตึงตัวที่เพิ่มขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ ค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท Cracking ที่สิงคโปร์มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาสแรก

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่ยังผันผวน รวมถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน บริษัทฯ จึงยังคงติดตามราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ บางจากฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโต ควบคู่กับการรักษาสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ด้วยการยึดมั่นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ได้รับการยอมรับในความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล สะท้อนจากการได้รับการประเมิน MSCI ESG Ratings ที่ระดับ AA ซึ่งเป็นระดับสูงสุดขององค์กรไทยในกลุ่มธุรกิจเดียวกันต่อเนื่อง 5 ปีซ้อน และการได้รับการประเมินความยั่งยืนจาก S&P Global องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI ประจำปี 2565 โดยมีคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining and Marketing ได้รับคะแนนสูงสุด Best Score ใน 11 ด้านจาก 21 ด้านของการประเมิน

“กลุ่มบางจาก”โชว์ผลงาน Q1 ยอดขายกว่า 8 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบางจากฯ ได้อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นับเป็นความคืบหน้าสำคัญของการเข้าทำธุรกรรม โดยเงื่อนไขบังคับก่อน (CP) 2 ใน 3 ข้อ ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อย การดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อธุรกรรมแล้วเสร็จจะเป็นการต่อยอดการเติบโตธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มบริษัทบางจากควบคู่กับสร้างประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการบูรณาการด้าน ESG -สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) บรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Governance & Economic) อย่างสมดุล สร้างการเติบโตต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของทุกภาคส่วน