Climate Change เปลี่ยนเกมส์แข่งขัน FMCG ทั่วโลก

03 พ.ค. 2566 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2566 | 12:17 น.

สินค้ากลุ่ม FMCG ยักษ์ใหญ่ สนองเกมส์ธุรกิจ Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรับกระบวนการตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ สู่ความยั่งยืน ส่งผลรายได้เติบโต Kantar ระบุ การพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างรายได้ให้แบรนด์ FMCG กว่า 3.82 แสนล้านดอลล่าสหรัฐ

นางสาวฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารแบรนด์ที่ยั่งยืน และที่ปรึกษา​ Sustainable​Business​ Lab​ Thailand​ ได้เขียนบทความถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงกดดันสำคัญที่เปลี่ยนเกมการแข่งขันของกลุ่มสินค้า FMCG โดยกล่าวถึง ช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของในแวดวงสินค้าอุปโภค บริโภคหรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ทั่วโลกที่เกิดจากแรงกดดันทั้งจากกฎระเบียบ กฎหมาย และมาตรการใหม่ๆ ที่รองรับการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

เช่น กฎระเบียบในสหภาพยุโรปที่ภายในปี 2573 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่ง นั่นรวมไปถึงความกังวลต่างๆของผู้บริโภคที่มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้เราจะค่อยๆเห็นการปรับตัวของบรรดาแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง  แต่สถานการณ์ความกังวลในประเด็นความยั่งยืนที่ตึงเครียดขึ้นวันนี้กำลังผลักดันให้อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค บริโภค ตกอยู่ในที่นั่งที่กดดันมากกว่าในหลายๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท เนื่องจากมีการประเมินว่า การสร้างต้นทุนทางสิ่งแวดลงกว่า 80-90% ในอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ห่วงโซ่อุปทานที่สูงกว่าการดำเนินการภายในบริษัทอย่างมาก
 

จากการสำรวจล่าสุดของ Oxford Economics Survey ซึ่งทำการสำรวจจากกลุ่มผู้บริหารของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 3 ใน 4 พบว่า ประเด็นความยั่งยืนนำมาซึ่งความกังวลใจในลำดับต้นๆ สำหรับทุกขั้นตอนในห่วงโซ่ธุรกิจ นับตั้งแต่ การวางแผน การออกแบบและวิจัยพัฒนา กระบวนการผลิต การขนส่งสินค้าและบริหารสินค้าคงคลัง ไปจนถึงการเก็บรักษาสินค้า ซึ่งเป็นความกังวลที่สูงกว่าในอุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่มาก ความเทอะทะ ความเยอะในรายละเอียด และเป้าหมายทางธุรกิจที่กล้าบ้าบิ่น ล้วนเป็นปัจจัยที่มีนัยยะในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคก็จำเป็นที่จะต้องมีการคำนึงถึงและการลงมือปฏิบัติในภาพรวม การกำหนดเป้าหมายปลีกย่อยที่ต้องมีความสม่ำเสมอ และต้องนำมาซึ่งความยั่งยืนของตัวธุรกิจเองและสังคม

Climate Change เปลี่ยนเกมส์แข่งขัน FMCG ทั่วโลก

หากจับตาความเคลื่อนไหวแบรนด์ยักษ์สินค้าอุปโภค บริโภค เราจะเห็นได้ในความก้าวหน้าของแบรนด์ในกลุ่ม FMCG ในฐานะแบรนด์ที่เป็นนักบุกเบิกด้านความยั่งยืน ที่วันนี้กำลังเพิ่มระดับและเป้าหมายในการทำงานที่ทะเยอทะยานมากขึ้นไปอีกในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การลดการปล่อยมลพิษและการรีไซเคิล ไปจนถึงการจัดหาและการใช้น้ำอย่างยั่งยืน ความแตกต่างที่เราเห็นชัดเจนที่แสดงออกของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้คือเป็นมากไปกว่าการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มุ่งเน้นงานเชิงประสิทธิภาพ แต่เป็น “การสร้างแนวคิดใหม่ในเชิงโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน”

ตัวอย่างเช่น ความเคลื่อนไหวของเนสท์เล่ในการเปิดตัวโครงการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งรับประกันว่าเกษตรกร 30 ล้านคนและผู้คนในพื้นที่ชนบทจะมีรายได้ทางการเกษตรที่มั่นคงจนถึงปี 2573 ตลอดจนการสร้างงานที่ยุติธรรมและทั่วถึงภายในปี 2573 ดานอนต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงอย่างเดียว และลดการใช้น้ำลงหนึ่งในสี่ บริษัทยังเป็นผู้บุกเบิกในการเลิกใช้อาหารดัดแปลงพันธุกรรมและสนับสนุนเกษตรกรทั่วโลก

 

หรือผู้นำอย่างยูนิลีเวอร์ที่ตั้งเป้าหมายจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากน้ำ ของเสีย และก๊าซเรือนกระจกต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคลง 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 กลุ่มบริษัทสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน

Climate Change เปลี่ยนเกมส์แข่งขัน FMCG ทั่วโลก

ขณะที่แบรนด์ที่มีความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนมากอย่าง อาดิดาส กำลังกลายมาเป็นผู้นำระดับโลกในการจัดหาฝ้ายที่ยั่งยืนมากขึ้น (“ฝ้ายที่ดีกว่า”) การทำเช่นนี้จะรักษาระดับการผลิตโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้ผลิตในท้องถิ่น อาดิดาสยัง วางแผนที่จะใช้เฉพาะโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2567 

 

แนวโน้มสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืนของธุรกิจกลุ่มนี้คือการยกระดับการทำงานของธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่งในการตอบความคาดหวังต่างๆ จากความคาดหวังและความต้องการที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆในการให้ทั้งระบบนิเวศของการผลิตสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้นักวิเคราะห์ของ IDC คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 กว่า 40% ของผู้ผลิตสินค้า G2000 จะใช้เทคโนโลยีที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อประเมินความเสี่ยงและเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Garner คาดการณ์ด้วยตัวเลขเดียวกันว่า ภายในปี 2025 กว่า 40% ของไอทีที่ใช้ในกระบวนการผลิตจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบรรลุเป้าคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ผู้ผลิตสินค้ากว่า 53% ได้มีการลงทุนในโครงสร้างหลักที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล การวิเคราะห์และการใช้ AI เชิงธุรกิจ ตลอดจนถึงการใช้ชุดข้อมูลมหาศาล เพื่อที่จะตอบสนองความคาดหวังและความต้องการเหล่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แรงกดดันและการเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลาสำคัญนี้ประเมินกันว่า การปรับกลยุทธ์ธุรกิจในการผสมผสานประเด็นความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจจะช่วยสร้างโอกาส และเป็นการเตรียมตัวรับมือกับการออกมาตรการใหม่ๆโดยภาครัฐ เช่น  การกำหนดภาษีสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกโดยสหราชอาณาจักร รวมไปถึงแนวโน้มผู้บริโภคที่กังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังมีจำนวนมากขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงกลุ่มผู้บริโภคทางเลือก พิสูจน์ด้วยผลสำรวจจากหลายสำนักที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นจากการสำรวจของ Forrester  ได้มีการเปิดเผยว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ในจีน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าครี่งหนึ่งของผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ในสหรัฐอเมริกานั้น ต่างมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสังคม 

 

ขณะเดียวกันก็พบว่าผู้ใช้งานออนไลน์ในสหราชอาณาจักร (49%) ฝรั่งเศส (60%) และจีน (82%) เลือกที่จะซื้อสิ้นค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากกว่าผู้ใช้งานในสหรัฐฯ แนวโน้มเหล่านี้กำลังเข้ามาปลดล็อค สิ่งที่แบรนด์สินค้าอุปโภค บริโภค เองเคยมองว่าการที่ลูกค้ามีความต้องการสินค้าราคาถูก เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน (เมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรมอื่นที่ตัวเลขอยู่ที่ 36%) และนี่คือแนวโน้มสำคัญที่เปลี่ยนไปซึ่งกำลังส่งผลทางบวกให้กับแบรนด์ที่ปรับตัวเข้าสู่การเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนได้ก่อน

 

ล่าสุดจากรายงานของ Kantar เมื่อกันยายน 2020 ยังระบุด้วยว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างรายได้ให้กับแบรนด์ FMCG ด้วยมูลค่ากว่า 382,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า หนี่งในห้าของผู้ซื้อสินค้ามีพฤติกรรมที่รับผิดชอบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิดผ่านไป 

 

“ความยั่งยืน” จะเป็นโอกาสของธุรกิจหรือไม่ขึ้นกับวิธีการที่บรรดาผู้นำหันกลับมาทบทวนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนในเทคโนโลยี และการแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่มุ่งมั่นในการเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง