นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคใต้ ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ภายใต้แนวคิด "วิชาการเกษตรนำ เทคโนโลยีล้ำ เกษตรกรรมใต้ยั่งยืน" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน พ.ศ.2566 โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เข้าร่วม พร้อมกันนี้นางสาวมนัญญา และผู้บริหารกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกันปลูกต้น Silver oak เพื่อช่วยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวโครงการ “DOA Green Together”แปลงต้นแบบการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช และแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และเปิดตัวโครงการ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร 1 ไร่ 1 แสน ในพื้นที่ในภาคใต้” ซึ่ง กรมวิชาการเกษตรจัดทำแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร 2 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การจัดทำต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช โดยมีแนวทางการดำเนินงานในพืชเป้าหมายที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล (ทุเรียน และมะม่วง) ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
2. การพัฒนากรมวิชาการเกษตรเพื่อเป็นหน่วยงานตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กรมวิชาการเกษตรสามารถเป็นหน่วยงานในการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้และการเกษตร พร้อมกับจัดตั้งหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับ การวิจัยและพัฒนาก๊าซเรือนกระจกเพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าว
สำหรับ โครงการ “การผลิตแบบผสมผสานทางการเกษตร 1 ไร่ 1 แสนในพื้นที่ภาคใต้” เป็นต้นแบบสวนมะพร้าวแบบผสมผสาน พื้นที่ 1 ไร่ ดูแลจัดการสวนโดยใช้แรงงานเพียง 1 คน โดยปลูกมะพร้าวเป็นพืชหลัก แซมด้วยไม้ผล และพืชผัก เป็นการดำเนินการตามโครงการ “GAP Monkey Free Plus” โดยยึดหลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งพบว่า วิธีการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวด้วยการใช้ไม้สอย จะช่วยสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในท้องถิ่น
โดยมีค่าตอบแทนการเก็บเกี่ยวลูกละ 2 บาท เฉลี่ยสร้างรายได้วันละ 4,000 บาท ขณะที่เจ้าของสวนมะพร้าว นอกจากจะมีรายได้จากมะพร้าว ยังมีการทำสวนผสมผสานการเลี้ยงผึ้งโพลงในสวนมะพร้าว ซึ่งสร้างรายได้ในระบบการผลิตสูงถึง 100,000 บาทต่อไร่ต่อปี จากการเก็บผลผลิต ทั้งพลู หมาก ไม้ผล ทุเรียน มังคุด เงาะ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 60,000 บาทต่อไร่ต่อปี ขณะที่การเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าวที่ 40 รังต่อไร่ เฉลี่ยให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 50-60 ขวดต่อปี จะมีรายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อปี
การจัดงานในครั้งนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 รวมถึงหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ความร่วมมือของภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีตลอดระยะเวลา 50 ปีของกรมวิชาการเกษตรสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจที่จะนำผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตรไปใช้และขยายผลผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน Smart Farmer เกษตรกรนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจทั่วไปรวมประมาณ 1,000 ราย
นิทรรศการในงานประกอบด้วย การแสดง พืชไร่พันธุ์ดี ที่สร้างรายได้ดี รวดเร็ว การปลูกพืชผสมผสานตามหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง พันธุ์พืชท้องถิ่น พืช GI ที่เป็นพืชอนาคตแห่งภาคใต้ เทคโนโลยีผลผลิตสีเขียว ด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ต้นแบบแปลงส้มโอทับทิมสยามเพื่อการส่งออก นวัตกรรมการผลิตพืชเศรษฐกิจหลักภาคใต้ One Stop Service ทางการเกษตรจากใจกรมวิชาการเกษตร และมิตรภาพทางการเกษตร โดยบริษัทจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ด้าน นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กล่าวเสริมว่า งานในวันนี้จัดภายใต้แนวคิด “วิชาการเกษตรนำ เทคโนโลยีล้ำ เกษตรกรรมใต้ยั่งยืน” โดยมีการจัดทำแปลงสาธิตแสดงพันธุ์พืช นิทรรศการ ผลงานวิชาการ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อถ่ายทอด ขยายผลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ นำไปปรับใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่รวมทั้งให้บริการคลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่อย่างครบวงจร ทั้งบริการวิชาการ เทคโนโลยีการผลิตด้านพืช บริการตรวจรับรอง GAP พืช และพืชอินทรีย์ การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชในดิน การให้บริการโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง