"วราวุธ" ตั้งกองทุน120ล้านยูโร หนุนปลูกข้าวลดCO2

05 เม.ย. 2566 | 15:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 15:12 น.

“วราวุธ” ปักหมุดไทยเดินหน้า Net Zero ดันแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก 40% เร่งอัพเกรดโครงการ Premium T-VER ดันไทยซื้อขาย คาร์บอนเครดิตในตลาดสากล เล็งขอต่างชาติ 120 ล้านยูโร ตั้งกองทุนส่งเสริมปลูกข้าวลดปล่อยคาร์บอน              

 

 กรุงเทพธุรกิจ จัดงานสัมมนา “GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era” มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “GO GREEN : Thailand Roadmap” ว่า ไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกลำดับ 19 ของโลก

ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 0.8% ของปริมาณทั้งโลก เมื่อเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่เจอภัยคุกคามทางธรรมชาติ เกิดความสูญเสียมากมายจึงนำมาสู่การกำหนดแนวทางและเป้าหมายการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และจะก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ( Net Zero GHG) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยมีแผนระยะสั้น

ที่กำหนดเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงที่ 40% ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งคาดว่าในปี ค.ศ.2025 ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

              

 

สำหรับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเป็นรายสาขา ดังนี้

1.ภาคพลังงานและขนส่ง ลดก๊าซเรือนกระจก 216 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

2. ภาคอุตสาหกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก 2.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

3.ภาคการกำจัดขยะและน้ำเสียในชุมชน ลดก๊าซเรือนกระจก 2.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และ

4. ภาคการเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ตั้งกองทุนทำนาลด CO2

               สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น จะดำเนินงานภายใต้โครงการต่างๆ เช่น โครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาในไทย จากเดิมการทำนาจะใช้น้ำทำนาหลายเดือนจนเกิดการเน่าเสียของน้ำ ส่งผลให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและก๊าซมีเทน แต่โครงการฯนี้จะใช้วิธีการทำนา

โดยสลับการลดระดับน้ำในนาข้าวจนแห้งในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20-30% รวมทั้งช่วยประหยัดการใช้น้ำและพลังงานประมาณ 50% ส่งผลให้ลดการเกิดก๊าซมีเทนราว 60-70% ปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จแล้วใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย สุพรรณบุรี,ชัยนาท,อ่างทอง, สิงห์บุรี, อยุธยาและปทุมธานี

ทั้งนี้โครงการฯดังกล่าว จะดำเนินการควบคู่กับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Global Green Climate Fund) ซึ่งมีแผนขยายผลการศึกษาของโครงการฯ จากเดิม 6 จังหวัด เป็น 21 จังหวัด ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 2.4 ล้านตัน จากเดิมที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน

เบื้องต้นจะต้องขอเงินสนับสนุนจากต่างประเทศประมาณ 120 ล้านยูโร เนื่องจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาข้าวในโครงการฯ มีความจำเป็นที่ต้องปรับหน้าดินให้มีความเรียบ หากสภาพพื้นดินเป็นหลุม จะทำให้มีน้ำขังและเน่าเสียเหมือนเดิม

ขยายตลาดคาร์บอนเครดิต

 นายวราวุธ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯได้มีการบริหารจัดการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงระเบียบ รวมทั้งการพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในไทย โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองทั้งหมด 14.14 ล้านตัน จากโครงการ T-VER ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน,การจัดการของเสีย, การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้สีเขียว และพลังงานทดแทนจากของเสีย

ปัจจุบันพบว่ามีการซื้อขาย ตลาดคาร์บอนเครดิต ประมาณกว่า 1.2 ล้านตัน มูลค่ากว่า 130 ล้านบาท โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก มีแผนพัฒนาโครงการ Premium T-VER เพื่อให้มีมาตรฐานการประเมินคาร์บอนเครดิตและคาร์บอนฟรุ๊ตพริ๊นท์เทียบเท่า International Standard ของโลก ทำให้ไทยสามารถซื้อ-ขาย ตลาดคาร์บอนเครดิตร่วมกันในต่างประเทศได้

 นอกจากนี้ อบก.ได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งศูนย์การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับระบบ (FTIX) ซึ่งมีการเปิดการซื้อขาย พลังงานสะอาด, คาร์บอนเครดิต ฯลฯ ปัจจุบันภายใต้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีนิติบุคคลเข้าร่วมประมาณ 30 บัญชี ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565-ปัจจุบัน มีการซื้อขาย คาร์บอนเครดิตประมาณ 3,000 ตัน

เพิ่มพื้นที่ป่าดูดซับคาร์บอน

ส่วนการเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกนั้น ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าราว 31% โดยในช่วงปี 2565 กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ฯลฯ เตรียมพื้นที่ 600,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เชิญชวนให้เอกชนร่วมกันปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจะแบ่งปันสัดส่วนคาร์บอนเครดิตให้แก่เอกชน 90% และภาครัฐ 10%

ขณะนี้มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจ อาทิ กฟผ.,ปตท.,SCG ฯลฯ โดยปี 2566 กรมฯอยู่ระหว่างหาพื้นที่ป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเชิญชวนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณด้วย รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) แหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย ที่คาดว่าจะกักเก็บได้ราว 1 ล้านตัน

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในประเด็นการประเมินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในร่างพ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับแผนแม่บท, แผนการลดก๊าซเรือนกระจก, การรายงานข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ, การสนับสนุนทางการเงิน, การกำหนดราคาคาร์บอน ฯลฯ คาดว่ากรมฯจะดำเนินการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนกันยายน 2566