คำประกาศ ลดกำลังการผลิตน้ำมัน ของ สมาชิกกลุ่มโอเปก สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่า ประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน เหล่านี้จะทำตามคำสัญญาที่จะเพียงเดินหน้ารักษาระดับการลดกำลังการผลิต ไว้ที่วันละ 2 ล้านบาร์เรลในการประชุมออนไลน์ของรัฐมนตรีกลุ่ม ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีจากรัสเซีย ที่จะมีขึ้นในวันจันทร์นี้ (3 เม.ย.)
เมื่อเดือนตุลาคมของปี 2565 กลุ่มโอเปกพลัส ซึ่งรวมถึง 13 ประเทศสมาชิกดั้งเดิมของโอเปก และพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีรัสเซียอยู่ด้วย ตกลงที่จะลดการผลิตน้ำมันวันละ 2 ล้านบาร์เรลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 ไปจนถึงสิ้นปี 2023 โดยการตัดสินใจดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่พอใจอย่างมาก เพราะปริมาณน้ำมันที่ลดลง จะทำให้ราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้น และยิ่งจะมีผลกระพือเงินเฟ้อให้สูงขึ้นไปอีก
ในเวลานั้น สหรัฐแย้งว่า โลกต้องการเห็นราคาน้ำมันลดลงเพื่อช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หาเงินรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า การประกาศลดกำลังการผลิตของโอเปกพลัสลงเพิ่มเติมโดยไม่ได้มีฝ่ายใดออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ หมายถึงตัวเลขการลดกำลังการผลิตที่มากกว่าระดับที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2565)
แถลงการณ์ของโอเปกพลัสระบุว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะลดการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่อิรักจะลดกำลังการผลิตของตนลงมา 211,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนสมาชิกชาติอื่นๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต แอลจีเรีย และโอมาน ก็รับปากจะลดการผลิตด้วยเช่นกัน
นายอเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (2 เม.ย.) ว่า มอสโกจะยืดเวลาการลดการผลิตน้ำมันวันละ 500,000 บาร์เรลไปจนถึงสิ้นปีนี้ หลังจากประกาศลดปริมาณการผลิตของตนเองลงมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่บรรดาชาติตะวันตกได้ออกมาตรการควบคุมเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียออกมา
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐได้ออกมาให้ความเห็นเมื่อครั้งนั้นว่า ความเป็นพันธมิตรของรัสเซียกับประเทศสมาชิกโอเปกอื่น ๆ น่าจะกำลังลดระดับลง แต่จากคำประกาศของโอเปกพลัสล่าสุดนี้กลับแสดงให้เห็นว่า สมาชิกในกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเหนียวแน่นกันอยู่เช่นที่เคยเป็นมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแถลงการณ์จากกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบียว่า การปรับลดกำลังการผลิตของซาอุฯนั้น เป็นมาตรการป้องกันที่มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังเกิดวิกฤตธนาคารเนื่องจากการล้มครืนของธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐ และการที่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ต้องขายกิจการของตนให้กับธนาคารยูบีเอส (UBS) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์
นักวิเคราะห์คาดหมายว่า ท่าทีล่าสุดของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร จะทำให้ราคาน้ำมันซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขยับสูงขึ้นไป โดยบริษัท PVM โบรกเกอร์ค้าน้ำมัน ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันอาจขยับขึ้นอีก 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่บางราย เช่น ผู้บริหารบริษัทการลงทุน พิคเคอริง อิเนอร์จี พาร์ทเนอร์ส เชื่อว่า ราคาน้ำมันน่าจะพุ่งขึ้นไปจากเดิมถึง 10 ดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง