zero-carbon

BAFS อัด 600 ล้านลุยโซลาร์ฟาร์ม มุ่งสู่ Net Zero

    BAFS ลดเสี่ยงโลกผันผวน เดินหน้า สู่ Net Zero ลุยธุรกิจใหม่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 49.4 เมกะวัตต์ ปีนี้ทุ่มลงทุนอีก 600 ล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เติมนํ้ามันอากาศยาน เล็งเป้าบริการเติมนํ้ามันอากาศยานปีนี้กว่า 4,200 ล้านลิตร

ในปี 2565 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (บาฟส์) ได้ประกาศเจตนารมณ์ ร่วมเป็นหนึ่งในองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแผนระยะกลาง 8 ปี (พ.ศ.2566-2573) เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% ภายในปี พ.ศ.2573 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวในงานสัมมนา SET IN THE RABBIT HOLE หุ้นไทยปีกระต่าย 2023 หัวข้อ “หุ้นเด่น หุ้นดัง : รับมือความผันผวนโลก”จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ได้วางกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจไว้ 3 เรื่องสำคัญได้แก่ 1.การเติบโตอย่างยั่งยืน คือการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจใหม่ ๆ 2.การปรับเปลี่ยนองค์กรโดยนำเอาเทคโนโลยี และดิจิทัลมาใช้มากขึ้น ลดขั้นตอนงานที่ซํ้าซ้อน และ 3.การพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS

ผ่านการดำเนินงาน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจการบิน เพื่อให้บริการเติมนํ้ามันอากาศยานอย่างครบวงจร กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ในการเก็บรักษาและขนส่งนํ้ามันเชื้อเพลิงผ่านระบบท่อส่งนํ้ามันใต้ดิน และธุรกิจลงทุนหรือร่วมทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจ Non-Carbon และสุดท้ายกลุ่มบริการธุรกิจ ที่ให้บริการทรัพยากรบุคคลในธุรกิจให้บริการนํ้ามันเชื้อเพลิงให้แก่อากาศยานและธุรกิจอื่นๆ และการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 บริษัท ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ และได้รับการรับรองให้เป็น Carbon Neutral Company จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.และมีเป้าหมายที่จะลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

BAFS อัด 600 ล้านลุยโซลาร์ฟาร์ม มุ่งสู่ Net Zero

สำหรับการให้บรรลุเป้าหมาย การดำเนินงานจะผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 % ภายในปี 2573 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อาคารสำนักงาน และสถานีบริการจัดเก็บนํ้ามันอากาศยานดอนเมือง และยังสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีภายในองค์กร โดยได้ติดตั้งสถานีชาร์จอีวีในพื้นที่ของบริษัทด้วย

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายธุรกิจใหม่ โดยร่วมทุนกับพันธมิตรจากสเปน เพื่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์เติมนํ้ามันอากาศยานไฟฟ้าหรือ BEV Hydrant dispenser เพื่อทดแทนนํ้ามันดีเซล ที่ประสบความสำเร็จจากการทดลองให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองจำนวน 2 คัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสธุรกิจอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันมีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว 2 คัน

อีกทั้ง บริษัท บาฟส์คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์เปอเรชั่น จํากัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100 % ได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม (Renewable energy) และ Recycling business โดยได้ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศ และญี่ปุ่นจํานวน 7 แห่ง รวมกำลังผลิต 49.4 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทแล้ว และยังมีแผนที่จะดําเนินการซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ เช่น เนปาล อินเดีย มองโกเลีย ซึ่งในปี 2566 นี้จะใช้เงินลงทุนอีกราว 600 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากงบลงทุนรวมของกลุ่มบริษัทที่ตั้งไว้ราว 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษา Bio Jet Fuel กับบริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล และบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในการศึกษาเชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการนํ้ามันอากาศยานอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและอุตสาหกรรมการบิน

สำหรับในปี 2566 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายให้บริการเติมนํ้ามันอากาศยานทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมกันที่ 4,200 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 40% ผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่วัดจาก EBITDA margin เริ่มกลับเข้ามาใกล้ระดับที่เคยทำได้ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว

ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างธุรกิจดังกล่าว ทำให้กลุ่มธุรกิจมีโครงสร้างรายได้ที่สมดุล มีภูมิคุ้มกันกับปัจจัยที่อาจจะเข้ามากระทบได้ในอนาคตโดยตั้งเป้าภายในปี 2569 สัดส่วนรายได้ที่มาจากจากการขายและบริการจากธุรกิจการบินอยู่ที่ 50% รายได้จากธุรกิจผลิต และจําหน่ายไฟฟ้าอยู่ที่ 40 % และรายได้จากค่าบริการจากการให้บริการขนส่งนํ้ามันทางท่อ 10%