"เน็ตซีโร่" ไม่พอ! MQDC ปลุกไทย สู่ "ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ" ภายในปี 2050

30 มี.ค. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 17:36 น.

โลกส่อแววพัง เร็วกว่าที่คิด MQDC ชี้ เป้าหมาย "เน็ตซีโร่" อาจไม่ทันการณ์ ปลุกภาคอุตสาหกรรม - ธุรกิจไทย สู่ พันธกิจ ปล่อยคาร์บอนสุทธิติดลบ ภายในปี 2050 แทน แนะ เร่ง ทำคาร์บอนฟุตพรินท์ ต่อยอดโอกาส ตลาดวัสดุรักษ์โลก เหตุ คู่แข่งยังน้อย แต่แนวโน้มคนรุ่นใหม่ ต้องการสูง

30 มีนาคม 2566 - เมื่อเป้าหมายธุรกิจจะไม่ใช่แค่ผลกำไรเติบโตเท่านั้น แต่โลกต้องอยู่ได้ด้วย ...ในงานสัมนา GO GREEN 2023 Business Goal to the Next Era ซึ่งจัดโดยสื่อเครือเนชั่น กรุงเทพธุรกิจ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) กล่าวบนเวที : Business Big Move ขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียว ว่า

ปัจจุบันโลกแปรปรวนอย่างรุนแรง เพราะผลกระทบจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่น่าสะเทือนใจ คือ ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีสปิชีของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากได้หายสาบสูญไปแล้ว เพราะความล่มสลายทางชีวภาพ แม้ขณะนี้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจะตระหนักถึงปัญหา และ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050

ในมุมของ MQDC ประเมินว่า พันธกิจหลักที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันผลักดันอยู่นั้นอาจไม่เพียงพอและทันการณ์ เนื่องจากอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประชากรโลกก็จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล การพยายามรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยกันปลูกป่าดูดซับ หวังลดคาร์บอน จากที่จะเหลือแค่มนุษย์บนโลก ในไม่กี่ปีข้างหน้า มนุษย์ก็อาจจะสูญหายไปด้วย เพราะอุณหภูมิโลก ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 1.5 องศาฯ ถึง 3 องศาฯ จะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง เร็วและถี่ขึ้น 

\"เน็ตซีโร่\" ไม่พอ! MQDC ปลุกไทย  สู่ \"ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ\" ภายในปี 2050

จึงมองว่า ขณะนี้ โลกควรมีเป้าหมายใหม่ ไปสู่ Nature Positive & Carbon Negative 2050 หรือ การสร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนสุทธิติดลบในปี 2050 แทน Net Zero ซึ่งภายใต้รูปการณ์ที่ดูยากและท้าทาย จะนำมาซึ่ง การทุ่มเท เรื่องการลงทุน และการศึกษา เพื่อให้เกิดขึ้นจริงในเร็ววัน 

รศ.ดร.สิงห์ ระบุว่า พันธกิจดังกล่าว จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจในอนาคต 2 ทาง ได้แก่ 1.สามารถช่วยโลกได้ 2.จะเป็นการต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยขณะนี้ ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ภาคอุตสาหกรรม และ ธุรกิจ จะเริ่มเดินหน้าได้ โดย 1. ตั้งเป้าตรวจสอบอย่างจริงจัง ว่าภาคธุรกิจตนเอง มีส่วนปล่อยคาร์บอนแค่ไหน (คาร์บอนฟุตพรินท์) 2. หาแนวทางลดคาร์บอนให้ตรงจุด และ 3.ศึกษาแนวทางการดึงคาร์บอนส่วนเกินกลับมาแปรสภาพ และ หารายได้ 

\"เน็ตซีโร่\" ไม่พอ! MQDC ปลุกไทย  สู่ \"ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ\" ภายในปี 2050

เทียบตัวอย่าง การพัฒนาโครงการ เดอะฟอเรสเทียส์ ของ MQDC ซึ่งเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้มีการปลูกป่ามากกว่า 30 ไร่ เพื่อให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และ ดูดซับคาร์บอน ขณะเดียวกัน ได้มีการออกแบบระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ (Fresh air) ที่มีการแลกเปลี่ยนความร้อนอาคาร โดยไม่เพิ่มภาระแก่ระบบปรับอากาศ รวมถึงระบบทำความเย็นรวมศูนย์ (District Cooling System) ปล่อยท่อน้ำเย็นไปจนถึงห้องพักอากาศทุกห้องภายในโครงการ 

ขณะเดียวกัน โครงการยังให้ความสำคัญ กับ Reduce Construction Impacts and Employ Circular Economy ซึ่งนี่เป็น ข้อ3.ที่ระบุไว้ข้างต้นว่าจะนำมาซึ่งโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ เพิ่มรายได้ หรือ ลดต้นทุนได้  โดย ภายในโครงการเดอะฟอเรสเทียส์ นอกจากเน้นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วัสดุคาร์บอนต่ำ หรือ วัสดุที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล แล้ว ยังมีแนวคิดคิดเผื่อ ว่าเมื่อมีการใช้งานเสร็จแล้ว ยังสามารถถอดเอาวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ไปประกอบขึ้นเป็นอาคารใหม่ได้แทนการทุบทำลายก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาลอีกด้วย

" วันนี้ เรื่อง GO GREEN มีอุปสรรค จากต้นทุน เพราะภาคธุรกิจมองว่าใช้เงินเยอะ กลัวขาดทุน แต่ถ้าเรามองว่าธุรกิจจะต้องอยู่ยาว 30ปี , 50 ปี ผมคิดว่า มันคุ้มค่าในการลงทุน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการลงทุน โดยเฉพาะ ตลาดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดทั้งหมด วัสดุรักษ์โลก เช่น พรมทำจากขยะพลาสติก ไทยควรปั้นตัวเองเป็นต้นน้ำของเทคโนโลยีด้านนี้ เพราะคู่แข่งในโลกยังไม่มาก แต่ตลาดโตขึ้นต่อเนื่อง เพราะจากข้อมูลสำรวจ พบคนรุ่นใหม่ เจน Z มากถึง 75% ระบุ จะเลือกซื้อโปรดักส์ที่รักษ์โลก ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีไม่ถึง 500 โปรดักส์ "