BPP ทุ่ม 1.3 พันล้านลุยโซลาร์รูฟท็อปในจีน

25 มี.ค. 2566 | 12:47 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2566 | 13:30 น.

“บ้านปู เพาเวอร์” เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดอัดงบกว่า 1.3 พันล้านบาท ลุยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กำลังผลิต 64 เมกะวัตต์ในจีน ถือเป็นก้าวสำคัญดันสู่เป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ในปี 2568

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครอบคลุมประเทศไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ด้วยจุดยืนการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน (We ARE Power for the Sustainable World) โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ด้วยเม็ดเงินการลงทุนราว 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 42 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 3,337 เมกะวัตต์ แยกเป็นจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน กำลังผลิต 2,869 เมกะวัตต์ และจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสดงอาทิตย์และพลังงานลมรวม 468 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด 3,153 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 117 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ บ้านปู เพาเวอร์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้ได้มากกว่า 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 เป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,500 เมกะวัตต์ และจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายสอดรับกับบริษัทแม่ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% จากการดำเนินงานปกติที่ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนและธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนภายในปี 2568 ภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง “Triple E” ได้แก่ 1. Ecosystem มุ่งสร้างเมกะวัตต์คุณภาพด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน (Thermal Power Business) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)

2. Excellence รักษาเสถียรภาพการผลิตควบคู่ไปกับประสิทธิภาพความพร้อมจ่ายไฟ (EAF) และเน้นการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสมํ่าเสมอ และเพิ่มโอกาสทำกำไรในตลาดที่มีการเติบโตและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และ 3. ESG ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ สู่เป้าหมายในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 5,300 เมกะวัตต์ โดยเป็นสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนกว่า 15 % หรือประมาณ 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

BPP ทุ่ม 1.3 พันล้านลุยโซลาร์รูฟท็อปในจีน

สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2566 จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน ผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ จำกัด ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 50 % เพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น บริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 1,300 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน

โครงการดังกล่าวเป็นผลหลังจากที่บริษัท ได้รับเลือกจากรัฐบาลท้องถิ่นในเขตเจิ้งติ้ง ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปภายใต้นโยบาย “Whole-county Rooftop Solar PV” ให้แก่สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเชิงพาณิชย์ รวมไปถึงภาคครัวเรือนในหมู่บ้านและชุมชนต่าง ๆ กำลังผลิตที่ 64 เมกะวัตต์ และมีศักยภาพในการพัฒนากำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 167 เมกะวัตต์ ในปี 2567 ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายพอร์ตพลังงานสะอาด และจะทำให้สามารถลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยนํ้าให้ได้ 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอยู่ที่ 205 เมกะวัตต์

ขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จํากัด (Durapower) จาก 47.68 % เป็น 65.10 % ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 2,300 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น จากปัจจุบันโรงงานในจีนมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และจะขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2568 และหากรวมกับโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในไทย กำลังการผลิต 0.75 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ที่เริ่มก่อสร้างในปีนี้ จะส่งผลให้ภายในปี 2568 บริษัทมีกำลังผลิตแบตเตอรี่ถึง 3.75 กะวัตต์ชั่วโมง (GWh)

ส่วนธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า ปัจจุบันมีจำนวนซื้อขายไฟฟ้าอยู่ที่ 1,719 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2568

ขณะที่ผลประกอบการในปี 2566 จะเติบมากกว่า ปี 2565 ที่มีรายได้ 24,501 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 5,739 ล้านบาท