กระทรวงพลังงานโวยลั่นเลิกใช้นโยบายลดราคาพลังงานเกินจริงหาเสียง

20 มี.ค. 2566 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 12:12 น.

กระทรวงพลังงานลั่นเลิกใช้นโยบายลดราคาพลังงานเกินจริงหาเสียง ชี้จะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ และยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างด้านพลังงาน และวินัยการเงินการคลัง

นายกัลย์ แสงเรือง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องการวอนขอในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ คือ ขอให้พรรคการเมืองอย่านำนโยบายการลดราคาพลังงานที่เกินจริงมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้แล้ว 

อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างด้านพลังงานและวินัยการเงินการคลัง ตลอดจนความยั่งยืน ความเป็นอยู่ของประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต 

"ขอยืนยันว่า ทุกนโยบายที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการนั้น ได้ผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” 

ทั้งนี้ สกพ. ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่องการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานที่ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลงในช่วงแรก ประกอบกับราคา Spot LNG ที่นำเข้าอยู่ในระดับสูง 

สกพ. จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน กฟผ. และ ปตท. เพื่อบริหารจัดการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า Spot LNG เพื่อให้ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด และมั่นใจว่าค่า Ft ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ทั้งของครัวเรือนและธุรกิจอุตสาหกรรมจะกลับมาใกล้เคียงกับค่า Ft รอบกันยายนถึงธันวาคม 2565

กระทรวงพลังงานโวยลั่นเลิกใช้นโยบายลดราคาพลังงานเกินจริงหาเสียง ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ด้านพลังงานยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศ 

โดยกระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้ประสานหน่วยงานภายในเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนทั้งในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานดังกล่าวได้ ส่งผลให้ภาครัฐต้องรับภาระทางด้านงบประมาณ ทั้งในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และภาระทางด้านการเงินของ กฟผ. 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สถานการณ์ราคาพลังงานได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น กระทรวงพลังงานมีความพยายามในการทยอยปรับราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม ไม่ให้เป็นการสร้างปัญหาด้านงบประมาณในอนาคต รวมถึงเสริมสร้างให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงาน 
 

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดและค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับสูงนั้น สนพ. ขอเรียนชี้แจงว่า เนื่องจากการคำนวณค่าการตลาดและค่าการกลั่นนั้น มีหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเพื่อใช้อ้างอิง แต่ไม่สามารถบังคับหรือตั้งราคาให้กับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เนื่องจากไทยใช้ระบบการค้าน้ำมันอย่างเสรี 

แต่ สนพ. ก็ได้ติดตามสถานการณ์ด้านราคาอย่างใกล้ชิด และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันในการปรับค่าการตลาดในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน อีกทั้งยังใช้มาตรการลดการเก็บภาษีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด 

รวมทั้งได้บริหารจัดการปริมาณสำรองน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นคง จะเห็นได้จากที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งต่างกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมัน จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน