energy
685

จ่อลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ หลังตลาดโลกร่วงหนักรอบกว่า 1 ปี

    จ่อลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ หลังตลาดโลกร่วงหนักรอบกว่า 1 ปี ขณะที่ ครม. ต่ออายุลดภาษีสรรพสามาติน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทอีก 2 เดือน ขณะที่การลดราคาเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งรวม 1 บาท

จ่อลดราคาน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ เพราะอะไร "ฐานเศรษฐกิจ" มีคำตอบ

วันนี้ (17 มี.ค.) สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนภายใต้หัวข้อ "การปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล"โดยเชื่อว่าจะเป็นการประกาศปรับลดราคาขายปลีกในประเทศเป็นครั้งที่ 3 

หลังจากก่อนหน้านี้ ได้มีการปรับลดลงมาแล้ว 2 ครั้ง รวม 1 บาท โดดยคาดว่าวันนี้จะมีการประกาศปรับลดลงอีกอย่างน้อย 50 สตางค์ต่อลิตร หลังราคาในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกปิดตลาดเมื่อวันก่อน ร่วงลงต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี เนื่องจากตลาดกังวลสถานะของธนาคารเครติด สวิส ซึ่งปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐฯและยุโรป อาจจุดชนวนวิกฤตการเงิน และกระทบการใช้พลังงาน 

ขณะเดียวกันตลาดน้ำมันได้รับข้อมูลจากคลังปิโตรเลียมสำรองของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมาย ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปิดตลาด (15 มี.ค.66) ปรับตัวลดลงเกือบ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ยังได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 66 เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีก "น้ำมันดีเซล" เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น

สำหรับการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลนั้น มีการเห็นชอบใช้ไปแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 1.58 แสนล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้ 

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 65 ลดภาษีลิตรละ 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท 
  • ครั้งที่ 2 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 
  • ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท 
  • ครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พ.ย. 65-20 ม.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 6 ช่วงวันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 7 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท

โดยทุกการลดภาษีดีเซล 1 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กลับมีมติเห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกดีเซล ให้ประชาชนไปเพียง 2 ครั้ง รวม 1 บาทเท่านั้น ครั้งที่ 1 ลดลง 50 สตางค์ ดีเซลเหลือเพดานลิตร 34.50 บาท มีผล 15 ก.พ.66 และครั้งที่ 2 ลดลง 50 สตางค์ ดีเซลเหลือเพดานลิตร 34.50 บาท มีผล 22 ก.พ. 66

อย่างไรก็ดี การสั่งให้ขยายเวลาลดภาษีดีเซลต่ออีก 2 เดือน ถือว่าน่าแปลกใจ เพราะมาตรการภาษีปัจจุบันยังไม่หมดลง โดยใช้ได้ถึง 20 พ.ค. อีกทั้งราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงมาแล้ว อยู่ระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ  

แต่รัฐบาลอ้างว่าต้องการดูแลค่าครองชีพประชาชน เพราะหลังจากยุบสภาเป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว จะไม่สามารถอนุมัติได้อีก จึงสั่งล่วงหน้าเพียงไม่กี่สัปดาห์ให้คลังเร่งต่อเวลาลดภาษีไปอีก