DITTO ปลูกป่าทะลุ 4.8 หมื่นไร่ ตุนคาร์บอน 5 แสนตัน/ปี

13 มี.ค. 2566 | 14:36 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 14:36 น.

DITTO ผนึก 14 ชุมชนกระบี่-พังงา ร่วมปลูกป่าชายเลนเพิ่มกว่า 2.6 หมื่นไร่ รวมพื้นที่ปลูกป่าทะลุ 4.8 หมื่นไร่ ตุนคาร์บอนเครดิตแตะ 5 แสนตันต่อปี ราคาล่าสุด 97 ยูโรต่อตัน

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO เปิดเผยว่า บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อยของ DITTO และชุมชนได้เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับชุมชนประจำปี 2566 จำนวน 14 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงา เนื้อที่รวม 26,508-2-22 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วย

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

  • จังหวัดกระบี่ จำนวน 7 ชุมชนเนื้อที่ 9,629,-0-15 ไร่
  1. ชุมชนบ้านเขาล่อม
  2. บ้านไหนหนัง
  3. บ้านท่าทองหลาง
  4. บ้านคลองยาง
  5. บ้านโคกยูง บ้านน้ำร้อนและบ้านท่าประดู่
  • จังหวัดพังงา 7 ชุมชนจำนวน 16,879-2-07 ไร่
  1. ชุมชนบ้านท่าสนุก
  2. บ้านกลาง
  3. บ้านทุ่งรัก
  4. บ้านบางพัฒน์
  5. บ้านเกาะเคี่ยม
  6. บ้านใต้
  7. บ้านเกาะไม้ไผ่  

ดังนั้นเมื่อรวมกับพื้นที่ที่บริษัทได้รับอนุมัติเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาในโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปีที่แล้ว 21,658.19 ไร่ กับพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติเพิ่มปีนี้ ทำให้บริษัทได้รับจัดสรรรวมทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่

“พื้นที่ทั้งหมดเป็นป่าชายเลนถือว่า เป็นป่าที่สร้างระบบนิเวศน์ทั้งดูดซับ กักเก็บ ปล่อยออกซิเจนรวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ป่าชายเลนจึงได้ชื่อว่า Blue carbon โดยเป้าหมายในการปลูกและดูแลป่าชายเลนยังอยู่ที่ 1 แสนไร่ เพื่อเป้าหมายคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันต่อปี”นายฐกรกล่าว

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การวัดคาร์บอนเครดิตสำหรับป่าชายเลนปัจจุบัน สูงถึง 9.4 ตันต่อไร่ต่อปี หากรวมพื้นที่ที่ได้รับปัจจุบัน จะได้คาร์บอนเครดิตราวๆ 500,000 ตันต่อปี และราคาคาร์บอนเครดิตจากป่าชายเลนมีราคาแพงกว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าบก ปัจจุบันราคาที่ซื้อขายในยุโรป 97 ยูโรหรือ 3,500 บาทต่อตันคาร์บอน

DITTO ปลูกป่าทะลุ 4.8 หมื่นไร่ ตุนคาร์บอน 5 แสนตัน/ปี

นายฐกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังออกพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มีผลเป็นภาคบังคับ (ปัจจุบันยังเป็นภาคสมัครใจ ) เนื่องจากนานาชาติทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้มีการบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับประเทศคู่ค้าซึ่งผู้ส่งออกสินค้าของไทยที่ส่งไปอียูและสหรัฐจะต้องเตรียมรับมือ

“พื้นที่ป่าชายเลนของชุมชนนั้นเป็นป่าที่คนในชุมชนดูแลอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ต้องปลูกใหม่ แต่ที่ผ่านมาอาจจะขาดองค์ความรู้ และงบประมาณไม่เพียงพอ การที่ DITTO เข้ามาร่วมมือและให้การสนับสนุน จะทำให้การดูแลรักษาป่ามีความเข้มแข็ง คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบนิเวศน์ที่ดีเพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน  โดยให้ชุมชนและชาวบ้านยังสามารถเข้ามาประกอบอาชีพและดำรงชีพในพื้นที่ป่าชายเลนได้ปกติเหมือนเดิม”ฐกรกล่าว

นอกจากนี้ DITTO ยังสนับสนุนทุนให้กับชุมชนไปพัฒนาท้องถิ่น และทุนการศึกษากับเด็ก ที่สำคัญชุมชนยังมีรายได้จากคาร์บอนเครดิตที่ได้จากป่าชายเลน สำหรับดูแลชุมชนอีกด้วย

นายสุธีร์ ปานขวัญ ประธานชุมชนบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่กล่าวว่า การที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนในการดูแลรักษาป่าชายเลนเป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาชุมชนบ้านไหนหนัง มีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ชุมชนมาโดยตลอด แต่มีข้อด้อยในเรื่องงบประมาณทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่  เวลาที่ต้องเข้ามาดูแลป่าชุมชน จะต้องมีงบประมาณสนับสนุน เช่น การลาดตระเวน  การดูแลรักษาเครื่องยนต์เรือ หรืออาจจะซื้อเรือเป็นของชุมชนเพื่อดูแลรักษาป่าต่อไป

อีกอย่างการที่เอกชนที่มีความชำนาญมีความรู้เข้ามาช่วยดูแลรักษาป่าจะทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลนและการบริหารจัดการมีระบบมากขึ้น เมื่อก่อนที่ชุมชนดูแลพื้นที่ 713 ไร่แต่ไม่รู้แนวเขตชัดเจนต่อไปคงมีแนวเขตชัดเจนขึ้น

“ในการเข้าร่วมทางชุมชนได้ทำประชาพิจารณ์คนในชุมชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ 3-4 เวที ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันทั้งหมด และยังเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ต่อไปนบริษัทน่าจะขยายการสนับสนุนไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย เพราะเป็นโครงการที่ดีเพื่อให้ชุมชนที่ดูแลรักษาป่ามีความเข้มแข็ง”

นายสุชาติ มิตตุลาคาร ประธานชุมชนบ้านทุ่งรัก จังหวัดพังงา กล่าวว่า โครงการนี้ชาวบ้านได้ประโยชน์ ทุกคนเห็นว่าเป็นโครงการเหมาะสมป่าจะได้สมบูรณ์ เป็นพื้นที่พักอาศัยของสัตว์น้ำ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพประมง จะได้มีแหล่งทำมาหากินและจะทำให้ได้ระบบนิเวศน์ที่ดี

“ที่ผ่านมาชาวบ้านดูแลป่าชุมชนกันเองจะออกไปตรวจดูคนลักลอบตัดต้นไม้ ค่าน้ำมันก็ไม่มี เมื่อมีเอกชนเข้ามาสนับสนุนคาดหวังอย่างน้อยจะได้มีงบประมาณในการทำงาน โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพและป่าก็จะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย”นายสุชาติกล่าว