ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อนโครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยมีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,838 ชุมชน มีสมาชิก 123,424 คน สามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 12.3 ล้านต้น
ปี 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานหลักในการยกระดับ ธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า เพื่อต่อยอดการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 381 ชุมชน และสามารถสร้างรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกว่า 38 ล้านบาทต่อปี
สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในเชิงนโยบาย ธ.ก.ส.สนับสนุนสินเชื่อตามนโยบายรัฐอยู่แล้ว โดยเฉพาะ BCG อย่างการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Green Bond) เป็นการระดมทุนจากภาคธุรกิจที่มีแนวคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้หลัก ESG : Environment Social and Governance ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้เดินไปในทิศทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์
เมื่อได้เงินจากการระดมทุนด้วย Green Bond แล้ว ธ.ก.ส.จะนำเงินที่ได้มาปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืน (Go Green : Forest Credit) เพื่อสนับสนุนเกษตรกร นิติบุคคล กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์การเกษตรที่สนใจปลูกไม้เศรษฐกิจ ทั้งการปลูกสวนป่าเชิงเดี่ยว สวนป่าแบบผสมและแบบวนเกษตร การเพาะพันธุ์ไม้หรือเมล็ดพันธุ์เพื่อจัดจำหน่าย
สำหรับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อ คือ
โครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน มีวงเงินให้สินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท จ่ายเงินกู้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยผลการดำเนินงาน ณ 31 สิงหาคม 2565 พบว่า มีการใช้เงินจาก Green Bobd 315.71 ล้านบาท จำนวนต้นไม่เพิ่มขึ้น 570,382 ต้น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บได้ 16,837.95 ตันคาร์บอน ไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีพื้นที่การผลิต 8,719.23 ไร
นอกจากนั้นธนาคารยังมี สินเชื่อสีเขียว(Green Credit) วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับเกษตรกรรายบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ต่อปี
ส่วนนิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-0.5ต่อปี กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน พิเศษไม่เกิน 18 เดือนและกรณีกู้เพื่อลงทุนภายใน 15 ปี
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565 มีการใช้เงินทุนจาก Green Bond 7,627.43 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตเกษตรอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) มีปริมาณผลผลิต 1,632,830.37 ตัน พื้นที่การผลิต 263,212.92 ไร่ เพื่อการใช้พลังงานทางเลือก/พลังงานทดแทน/พลังงานสะอาด มีปริมาณการผลิตไฟฟ้า 1.32 MW จำนวน 797 โรงเรือน โรงงาน โครงการ/แผนงาน และเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 103,044 โรงเรือน/ โรงงาน/โครงการ/แผนงาน พื้นที่การผลิต 18,013.57 ไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง