ค่าไฟจ่อลดงวด พ.ค.-ส.ค.เล็งรวบเหลือราคาเดียวทุกกลุ่ม

13 ก.พ. 2566 | 15:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 15:43 น.

ค่าไฟจ่อลดงวด พ.ค.-ส.ค.เล็งรวบเหลือราคาเดียวทุกกลุ่ม หลัง กพช. มองสถานการณ์ราคาก๊าซนำเข้าดีขึ้น พร้อมผ่านช่วงใช้ไฟมากเดือน ม.ค.-เม.ย.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า แนวโน้มการคำนวนค่าไฟฟ้างวด 2 (พ.ค-​ส.ค.66) จะเป็นอัตราเดียวทั้งภาคครัวเรือนและเอกชน จากเดิมที่งวดแรกของปี 66 (ม.ค.-เม.ย. 66) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าเป็น 2 อัตรา คือ ภาคครัวเรือนคิดค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 4.72​ บาท และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น เช่น กลุ่มธุรกิจ คิดอัตราหน่วยละ 5.33 บาท

ทั้งนี้ หากราคาก๊าซนำเข้าอยู่ในระดับนี้ต่อไป มองว่าทิศทางราคาค่าไฟฟ้างวดใหม่ก็จะถูกลง อีกทั้งในช่วงของการใช้ไฟฟ้าสูง หรือช่วง Peak จะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.เม.ย. 2566 ทำให้สถานการณ์แผนรับมือพลังงานฉุกเฉินผ่อนคลายขึ้น 

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยหากราคานำเข้าก๊าซลดลงก็อาจจะปรับลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งกระทรวงได้พยายามบริหารจัดการเพื่อบริหารต้นทุนอย่างคุ้มค่าและถูกที่สุด
 

สำหรับมาตรการที่ดูแลค่าไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือนจากเดิมที่ให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีต้นทุนถูกกว่าเพื่อทำให้ราคาค่าไฟถูกกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนั้นเป็นนโยบายที่อนุมัติรอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ซึ่งอาจจะไม่มีต่อมาตรการแล้ว เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ LNG Spot ลดลงมากเหลือ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดระดีบ 40-47 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเมื่อช่วงปลายปี 2565 เพราะสภาพอากาศในสหภาพยุโรปไม่ได้หนาวมากตามที่ประเมินไว้

ค่าไฟจ่อลดงวด พ.ค.-ส.ค "หากสถานการณ์ราคาก๊าซนำเข้ายังทรงตัวอยู่ระดับนี้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นค่าเอฟทีงวด 2 มีแนวโน้มลดลงได้ แต่จะลดลงต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วยตามที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ คงต้องพยากรณ์จากหลายปัจจัย ซึ่งขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างนำรายละเอียดต้นทุนต่าง ๆ มาพยากรณ์อยู่ทั้งปัจจัยราคาก๊าซนำเข้า ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เป็นต้น"

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ. จะทำตัวเลขเปรียบเทียบเพื่อกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) โดยจะทำอัตราเปรียบเทียบประมาณ 3 อัตราเหมือนเช่นเคย เช่น การคำนวนราคาก๊าซนำเข้า อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงเงินค้างจ่ายค่า Ft ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 170,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันจ่ายคืนให้กฟผ.หน่วยละ 22 สตางค์ เป็นต้น
 

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่า กกพ. มีหน้าที่คำนวณค่า Ft ในแต่ละงวดโดยดูหลายปัจจัย แม้ว่าราคานำเข้าก๊าซจะลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาในช่วงที่มีราคาสูงยังคงเหลืออยู่ในระบบ ซึ่งกกพ. จะต้องดูว่ามีปริมาณมากน้อยแค่ไหน 

และจะจ่ายคืนค่า Ft ให้กฟผ.หน่วยละเท่าไหร่ จากที่เคยคิดหากคือหน่วยละ 33 สตางค์จะใช้เงินประมาณเดือนละ 20,000 ล้านบาท เป็นต้น ดังนั้น ค่าไฟฟ้าจะมีราคาหน่วยละเท่าไหร่ รัฐบาลจะพิจารณาอีกครั้ง