Dow ผนึก Mura สร้างโรงรีไซเคิลพลาสติกขั้นสูงใหญ่ที่สุดยุโรป

31 ม.ค. 2566 | 10:47 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 12:23 น.

Dow ผนึก Mura สร้างโรงรีไซเคิลพลาสติกขั้นสูงใหญ่ที่สุดยุโรป มุ่งสู่ผู้ผลิตโพลีเอทีลีนด้วยวัตถุดิบหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก

นายดิเอโก้ โดโนโซ ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษของ Dow (ดาว) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับ Mura Technology แก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลกและยกระดับการผลิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งนี้ Mura มีแผนที่จะสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงแห่งใหม่ในพื้นที่ของ Dow ที่เมือง Böhlen ประเทศเยอรมนี ซึ่งจะเป็นโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงที่เปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป มีกำลังการผลิตราว 120,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี พ.ศ. 2568 

อย่างไรก็ดี โรงงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลขั้นสูงที่จะเกิดขึ้นหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าจะรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ 600,000 ตันต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเมื่อสำเร็จจะส่งผลให้ Dow กลายเป็นผู้ใช้งานวัตถุดิบหมุนเวียนเพื่อการผลิตโพลีเอทีลีนรายใหญ่ที่สุดในโลก
 

สำหรับกระบวนการรีไซเคิลขั้นสูงของ Mura เรียกว่า HydroPRS (Hydrothermal Plastic Recycling Solution) มีลักษณะเด่นที่การใช้ไอน้ำที่ภาวะยิ่งยวด (supercritical) โดยสามารถแปลงสภาพพลาสติกเกือบทุกชนิดให้กลับเป็นน้ำมันและสารตั้งต้นของพลาสติกอีกครั้ง เพื่อผลิตเป็นพลาสติกใหม่ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงสามารถนำมาใช้งานได้ทุกประเภทแม้กระทั่งเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร

Dow ผนึก Mura สร้างโรงรีไซเคิลพลาสติกขั้นสูงใหญ่ที่สุดยุโรป อย่างไรก็ตาม ด้วยกระบวนการขั้นสูงของ Mura จะสามารถนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลซ้ำได้หลายครั้ง ช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และป้องกันพลาสติกไม่ให้ต้องไปสู่หลุมฝังกลบหรือเตาเผา เทคโนโลยีนี้ยังช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.5 ตันต่อการรีไซเคิลพลาสติก 1 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับการเผา อีกทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาการใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

"จะเพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของ Dow และลงทุนในเทคโนโลยีที่ให้ประสิทธิผลสูงสุดเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ อีกทั้งยังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะลดการพึ่งพาวัตถุดิบตั้งต้นจากน้ำมันดิบ”

การที่ Mura ใช้สถานที่ของ Dow เป็นที่ตั้งของโรงงานยังจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง นอกจากนี้ ก๊าซที่เกิดขึ้นในกระบวนการรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงนี้ยังสามารถเปลี่ยนรูปเป็นพลาสติกได้ จึงไม่มีของเสียเกิดขึ้นจากกระบวนการ

นายสตีฟ มาฮอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Mura Technology กล่าวว่า การจัดการกับวิกฤติขยะพลาสติกนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า Dow มีความสนใจใช้โซลูชั่น HydroPRS ซึ่งจะพลิกอุตสาหกรรมพลาสติกทั่วโลก