“สุเมธ ตันติเวชกุล” กับข้อเสนอแนะแก้ปัญหาโลกร้อน Climate change

20 ม.ค. 2566 | 16:50 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2566 | 18:10 น.

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนะข้อเสนอแก้ปัญหาโลกร้อน Climate change ต้องเริ่มจากตรงไหน มีอะไรต้องเร่งทำทันที

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษในเวทีผู้นำ CAL Forum รุ่นที่ 2 เรื่องความเชื่อมโยงของการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ปัญหาเรื่องของโลกร้อน และ Climate change ที่ผ่านมามีการพูดถึงกันมามากแล้ว โดยหลายคนรู้ปัญหา รู้ทางออก รู้วิธีการแก้ไข แต่กลับไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที 

ทั้งนี้มองว่าในการเริ่มต้นการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ตอนนี้ต้องมีการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับครัวเรือน เพราะปัจจุบันทรัพยากรของโลกถูกใช้จนเหลือแค่ในระดับจำกัด สวนทางกับจำนวนประชากรของโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ประชากรของโลกมีจำนวนพุ่งทะลุ 8,000 ล้านคนไปเป็นที่เรียบร้อย ในขณะที่ทรัพยากรต่าง ๆ กลับลดลงต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมามีนักปราชญ์ และวิเคราะห์นักเศรษฐกิจเตือนมาแล้วว่า วันข้างหน้าประชากรจะมากกว่าทรัพยากร โดยมนุษย์ทุกคนได้ถลุงโลกตั้งแต่ลืมตาเกิดขึ้นมาจนกระทั่งตาย ได้ใช้ทรัพยากรไปมาก และก็ไม่ใช่การใช้ทรัพยากรไปเพื่อยังชีวิตอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ทรัพยากรไปหลาย ๆ อย่างไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นใน” ดร.สุเมธ กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวว่า โลกยุกปัจจุบันยิ่งมีความเจริญมากขึ้นเท่าไหร่ คนก็ยิ่งเข้าไปทำลายทรัพยากรต่าง ๆ มากขึ้น จนเกิดเป็นความทุกข์ โดยมีความตายรออยู่ข้างหน้า ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ถูกเชิญไปเป็นประธานงานแต่งงานมาหลายงาน และพูดทิ้งท้ายทุกครั้งว่าขอให้มีลูกเร็ว ๆ แต่ตอนนี้อยากพูดเหลือเกินว่าอย่าเพิ่งมีลูกเลย เพราะตัวเองยังไม่รอด มีความทุกข์มากถึงขนาดนี้ และหากมีเด็กเกิดขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะเหลืออะไร

ทั้งนี้หลากหลายปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลก มนุษย์รู้ปัญหา รู้ทางแก้ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องกระทำขึ้นมากลับมีปัญหาขึ้นเสียเอง เช่น การมีข้อตกลงต่าง ๆ บนเวทีของโลก แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ได้ขับเคลื่อนอะไรออกมา 

“ปัญหาทุกอย่างทุกคนรู้แล้วว่าทางรอดคืออะไร เป็นทางรอดของตัวเองและลูกหลานข้างหน้า ซึ่งการต่อสู้ระหว่างกิเลสและปัญญานั้น สู้กันมา 2,000 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ชนะ มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ยังไม่สามารถบรรลุกิเลสปัญหาได้ จนทำให้วันนี้ต้องมีการบังคับกัน เช่น ข้อบังคับทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องความร่ำรวยที่คนทุกอย่างเอาจิตไปฝังไว้ตรงนั้น ทางแก้ที่ถูกวิธีคือต้องเปลี่ยนวิถีกันใหม่ แม้จะเป็นไปไม่ได้ก็ตาม”ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย