ยุบสภาซ้ำเติมปัญหาค่าไฟฉุดเศรษฐกิจ เอกชนแนะแก้ค่าเอฟทีระยะยาว

12 ม.ค. 2566 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2566 | 15:25 น.

ยุบสภาซ้ำเติมปัญหาค่าไฟฉุดเศรษฐกิจ เอกชนแนะแก้ค่าเอฟทีระยะยาว ชี้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งระบบ พร้อมเผยแม้จะลดค่าไฟเหลือจ่าย 5.33 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังราคาสูงดันต้นทุนขยับ 9-10%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หนึ่งความกังวลที่ภาคเอกชนกังวลก็คือ หากรัฐบาลยุบสภา จะทำให้คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาแก้ไขด้านพลังงานร่วมกันอาจเกิดเกียร์ว่างอีก จึงต้องการฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้ดูเรื่องการแก้ปัญหาค่าเอฟที (Ft) ในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ล่าสุดโรงพยาบาลประกาศปรับขึ้นค่าบริการนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) รวมถึงนักธุรกิจก็เริ่มชะลอและทบทวนสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 

ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งระบบ สะท้อนเรื่องพลังงานที่เป็นหัวใจสำคัญในการแข่งขันของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และท้ายสุดจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเงินเฟ้อ เป็นปัญหาที่ต้องมาคุยกันเรื่องโครงสร้าง

 

นายเกรียงไกร ยังกล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลจะลดค่าเอฟทีภาคธุรกิจเพื่อช่วยให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเฉลี่ยหน่วยละ 5.33 บาท จากเดิมต้องจ่ายหน่วยละ 5.69 บาท แต่ถือว่ายังเป็นระดับสูงกว่าที่เอกชนต้องการให้พยุงไว้หน่วยละ 4.72 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นระดับ 9-10% ถือเป็นระดับที่สูงเช่นกัน แม้ผู้ผลิตจะพยายามดูแลราคาสินค้าไม่ให้พุ่งสูงมากเกินไปก็ตาม

นอกจากนี้ โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ตามแผนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดไว้ แม้จะเป็นพลังงานสะอาด แต่จะส่งผลถึงค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับเกินมากพออยู่แล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนต้นทุนภาระมากขึ้นไปอีก