ผลกระทบฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปีแต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงปลายปีและต้นปีที่มีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 เกิดการสะสม ซึ่งถือว่าสภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่ผ่านมา
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ( ศกพ.) ได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 มาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2566 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรฯได้จัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงข่าวการเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2566 โดยกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี ซึ่งมาจากแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบนโยบายและเน้นย้ำการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 หลักการ 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม”ภายใต้แผนเฉพาะกิจฯ
ประกอบด้วย 1) เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ 2) ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง 3) ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check) 4) กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด
ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 5) ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS) 6)
ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 7) ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง
ในปี 2566 มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการระบายฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1) พื้นที่เมือง แหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเน้นมาตรการในการป้องกันการเกิดปัญหาและมาตรการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ด้านการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้มีการกำหนดโครงการ อาทิ โครงการรถรัฐลดมลพิษ โครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ให้บริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ฟรี และลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าอะไหล่ และค่าแรงเป็นพิเศษ
การน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในช่วงวิกฤต ฝุ่น PM2.5 รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง เช่น บริษัทรถบรรทุก สถานีขนส่ง และอู่รถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทาง อู่รถโดยสาร ขสมก. เป็นต้น
ด้านโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง ร้อยละ 100 ตลอดปี โดยในช่วงวิกฤตระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 จะเร่งตรวจกำกับโรงงานเชิงรุกโดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองจากกระบวนการเผาไหม้ และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น
โดยโรงงานที่มีความเสี่ยงในการปล่อยฝุ่นละอองประกอบด้วย โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จโรงงานแอสฟัลติก รวมทั้งสิ้น 896 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีการควบคุมสถานประกอบการ ได้แก่ กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น
2) พื้นที่เกษตร แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร ดังนั้นจึงเน้นการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเพื่อลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%
3) พื้นที่ป่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า ดังนั้นจึงเน้นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า
การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า โดยกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง
นายปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มักเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี สภาพอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันที่แหล่งกำเนิด ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีของทุกคน
ทั้งนี้ ติดตามข้อมูล ข่าวสาร การรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai หรือ แฟนเพจศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง