“วราวุธ” เปิดประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ

02 ธ.ค. 2565 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 21:07 น.

“วราวุธ” เปิดประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ ลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขง โดยใช้จุดความร้อนปี63เป็นฐาน

 

 

 

 

เป้าหมาย ยกระดับเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขง ภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai 2017 Plan of Action) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มไว้เมื่อปี 2560 เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง ครั้งที่ 11 (11th Meeting of the Sub-Regional Ministerial Steering Committee on Transboundary Haze Pollution in the Mekong Sub-Region หรือ 11th MSC Mekong)

 

ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบการประชุมทางไกล VDO Conference วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ

 

 

“วราวุธ” เปิดประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ

 

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับเลขาธิการอาเซียน และตัวแทนจากประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

 

ที่ประชุมได้ยอมรับข้อเสนอของประเทศไทยในการตั้งเป้าหมายลดจุดความร้อนภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย (Chiangrai Plan of Action) ในปี 2566 2567 และ 2568 ลงร้อยละ 30 35 และ 40 ตามลำดับ โดยใช้จำนวนจุดความร้อนปี 2563 เป็นฐาน

 

 

ร่วมประชุมหาทางออกลดจำนวนจุดความร้อน ฯ

 

ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในอนุภูมิภาคแม่โขง โดยใช้แผนปฏิบัติการเชียงรายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ร่วมกับให้การช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอาเซียน

 

 

ผลสำเร็จของการดำเนินงานลดจำนวนจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงปี 2565 ปัจจุบันสามารถบรรลุเป้าหมายที่ 20% ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน ให้มีการตั้งเป้าหมายร่วมอาเซียน ในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 16 เมื่อปี 2564

 

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังได้แสดงความขอบคุณที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ และการอบรมให้ความรู้แก่ประเทศสมาชิกในช่วงที่ผ่านมา

 

ปัจจุบันประเทศไทยพร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสนับสนุนประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาหมอกควันในอนุภูมิภาคแม่โขงต่อไป นายวราวุธ กล่าว

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม