"ชไนเดอร์ อิเล็คทริค" มุ่งสู่องค์กรที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการพลังงาน

30 พ.ย. 2565 | 19:17 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2565 | 02:46 น.

"ชไนเดอร์ อิเล็คทริค" มุ่งสู่องค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีบริหารจัดการพลังงาน ลั่นเป้าหมายเดินหน้าเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2025 และ Net Zero ปี 2030 ย้ำหากทุกฝ่ายเร่งร่วมมือกัน ก็จะพาประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้เร็วขึ้น

 

นายสเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา กล่าวใน งานสัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ช่วงบ่ายวันนี้ (30 พ.ย.) ว่า การนำพาองค์กรสู่การเป็น องค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ sustainable business นั้นเป็นภารกิจสำคัญที่สอดคล้องกับกระแสหลัก หรือ เมกะเทรนด์ ที่เป็นวาระระดับโลก 3 ประการในปัจจุบัน

  • ประการแรก คือ การอุบัติขึ้นของโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ที่ทำให้มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและการทำงาน เร่งให้เกิดกระบวนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากยิ่งขึ้น
  • ประการที่สอง คือ Electrification ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานรูปแบบอื่นๆ มาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งโลกกำลังมุ่งไปในทิศทางนี้ จะเห็นได้ในทุกมิติของการใช้ชีวิต
  • ประการที่สาม คือ Sustainability หรือความยั่งยืน ที่เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังมุ่งหน้าไป

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ บริษัท ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา

 

สำหรับชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการปรับใช้ระบบการจัดการพลังงานและระบบดิจิทัลในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจทั่วโลก โดยมีพนักงานมากกว่า 120,000 คนในนานาประเทศรวมทั้งกว่า 1,500 คนในประเทศไทย  ภารกิจหลักคือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) และการใช้ไฟฟ้า (electrification) มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน “นั่นหมายถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ น้อยลง ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง และช่วยให้องค์กรต่างๆ ประหยัดการใช้พลังงานและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไปด้วยในตัว”

 

สเตฟาน นูสส์ เปิดเผยว่า 70% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถลดลงได้ด้วยการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว โดยนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ เข้ามาใช้ตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิต จากนั้น ยังสามารถบริหารจัดการอุปกรณ์ต่างๆในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในโรงงาน ในสถานที่ทำงาน ในโรงแรม และสถานที่ต่างๆ ด้วยการปรับอุปกรณ์ต่างๆ ให้มาใช้กระแสไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงาน

 

การทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงจากที่เคยใช้ระบบหนึ่งไปสู่การใช้อีกระบบหนึ่ง ทำได้ทั้งในขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างระบบเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า ในอดีตเป็นระบบรวมศูนย์และด้วยความที่การผลิตและจ่ายไฟเป็นระบบรวมศูนย์ที่อยู่ในมือของผู้ผลิตรายใหญ่ จึงเป็นการดำเนินการในลักษณะทางเดียว แต่ปัจจุบัน เป็นยุคของการกระจายอำนาจการผลิตและจ่ายไฟ ให้แก่ชุมชนและผู้ใช้ไฟ ซึ่งสามารถเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองและสามารถจำหน่ายส่วนที่เหลือใช้ แนวโน้มนี้ทำให้เราได้เห็นบ้านอัจฉริยะ (smart home) อาคารอัจฉริยะ (smart building) และไมโครกริด (micro-grid) เครือข่ายกระจายไฟฟ้าขนาดย่อม ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

\"ชไนเดอร์ อิเล็คทริค\" มุ่งสู่องค์กรที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการพลังงาน

 

“กระแสความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งอาศัยการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับระบบพลังงานไฟฟ้า นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมการผลิตของไทย ทำให้โรงงานต่างๆประหยัดพลังงานได้มากขึ้น ที่สำคัญคือ อาคารต่างๆ ที่มีอยู่ซึ่งเป็นอาคารเก่า ก็ยังสามารถติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานที่ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ 20-30%” ผู้บริหารของชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า ศูนย์ประมวลข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Data Center ทั้งหลาย หากนำระบบบริหารจัดการที่ดีมาใช้ ก็จะสามารถประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหาโลกร้อนไปด้วย

 

 “เราเป็นผู้นำระดับโลกในระบบการบริหารจัดการพลังงาน ชไนเดอร์ฯ ใช้ 5% ของรายได้เพื่อพัฒนาระบบพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงถึงกัน หมายความว่า เราสามารถรวบรวมข้อมูลการทำงานของอุปกรณ์เหล่านั้น และด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของบริษัท รวมทั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยเราประมวลและคำนวณข้อมูลเพื่อนำเสนอการบริหารจัดการพลังงานที่ดีที่สุด จึงมั่นใจได้ว่า เราจะสามารถใช้พลังงานอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”

 

สุดท้าย ผู้บริหารของชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดเผยว่า ยิ่งทำให้องค์กรเป็นองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนได้เร็ว เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าและดิจิทัลมาใช้ได้เร็ว ก็จะก่อประโยชน์ทั้งต่อโลกและองค์กรได้เร็วขึ้น ดีต่อโลกเร็วขึ้น เพราะการที่องค์กรสามารถประหยัดการใช้พลังงาน ก็เท่ากับว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดอุณหภูมิโลก ในแง่องค์กรธุรกิจก็คือสามารถประหยัดต้นทุนพลังงานเร็วขึ้นด้วย และยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการใช้ระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ (automation) และการทำงานควบคุมจากระยะทางไกล เป็นต้น เหล่านี้ทำให้องค์กรประหยัดแรงงานได้ด้วย

 

“ความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของ DNA องค์กรเรา” สเตฟานกล่าวและเปิดเผยว่า เป้าหมายชัดเจนที่บริษัทปักธงไว้คือ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จะเป็น องค์กรธุรกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2025 หรือในปี พ.ศ. 2568 จากนั้นจะเป็น องค์กร Net Zero ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยในปี 2050 (พ.ศ.2593) โดยบริษัทจะร่วมมือกับบริษัทลูกค้าและพันธมิตรธุรกิจ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความยั่งยืนพร้อมไปด้วยกัน